เมื่อมีคำถามมาใน inbox ที่ facebook ของศกร. (https://www.facebook.com/i4happinessedu/) ว่า model ทางการศึกษาที่มีอยู่มากมาย อันไหนดีที่สุด ... คำถามนี้ ตอบยาก และเราไม่ควรตอบให้ แต่อยากจะชวนพวกเรามาทำความเข้าใจที่แนวคิด เพื่อให้ได้คำตอบของตนเองจะดีกว่า
เป็นเรื่องจริงที่ ทฤษฎี model หรือแนวการจัดการศึกษามีอยู่มากมาย แต่ที่เราพูดกันอยู่บ่อย ก็เช่น Bloom’s Taxonomy, PBL, Design Thinking, U-Theory, Mulitple Intelligence หรือแม้กระทั่ง Experiential Learning Cycle-ELC-GROWME ที่เป็นพื้นฐานหลักสูตรของศูนย์การเรียนของเรา ก็ล้วนเป็นผลงานของเจ้าสำนักต่างชาติที่เราไปช้อปปิ้งมา ทั้งที่จริงๆแล้ว ถ้าหากเราให้เวลาเรียนรู้แนวทางการให้การศึกษาของพระพุทธเจ้า เราก็จะได้แนวคิด เครื่องมือ เทคนิคที่สุดยอดมาใช้ อาจจะเพราะเราคิดว่า ฝรั่งหรือญี่ปุ่นก้าวหน้ากว่าเราในเรื่องการศึกษาเราก็จึงต้องตามๆเค้าไป
ด้วยเหตุที่มีทฤษฎี หรือ model เกิดใหม่มากมาย (ดูจำนวนมหาศาลของคนเรียนปริญญาโท และเอก และจำนวน journals ที่ต้องตีพิมพ์ผลงานเหล่านี้) เราก็ต้องเข้าใจก่อนว่า ข้อสรุปที่มาเป็น model หรือทฤษฎีของแต่ละสำนักคิด ได้จากการศึกษาวิจัยกลุ่มตัวอย่างซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่ง ในเงื่อนไขสถานการณ์นั้นๆ แต่ละ ทฤษฎี หรือ model จึงเป็นการถอดข้อสรุปของรายละเอียดมาอีกที ดังนั้น จึงไม่มี model หรือทฤษฎีใดที่จะใช้กับทุกกรณีในโลกนี้ได้ (ยกเว้นแต่ทฤษฎีของพระพุทธเจ้า) ทฤษฎีที่ออกมาใช้กันแล้วระยะหนึ่ง เจ้าของสำนักยังมีการปรับเปลี่ยนบ่อยๆ ไป อย่าง Multiple Intelligence Gardner ก็ยังเสนอ intelligence เพิ่มเข้ามา Kolb ที่เสนอ ELC ก็มีการปรับ ขยับขยายแนวคิดเพื่อใช้งานไปอีก Bloom ก็ยังสลับขั้นที่ 5-6 มาแล้ว เป็นต้น
ดังนั้น เราจึงต้องวางตำแหน่งของเราให้กับการ “ฉลาดใช้” โดยจะต้องเข้าใจแก่นของทฤษฎี หรือ model นั้น และเข้าใจว่า ทฤษฎีเป็นข้อเสนอ ที่เราก็จะสามารถเลือกหยิบมาใช้ให้เหมาะกับเหตุของเราได้ สรุปก็คือ ขึ้นอยู่กับเราแล้ว ว่าจะเลือกชุดความเชื่อ หรือคำอธิบายอันไหนมาใช้กับลูกของเรา
เช่น ถ้าใครเลือกใช้ Bloom’s Taxonomy ก็ต้องเชื่อก่อนว่า ในหลากหลายผลการเรียนรู้ของมนุษย์ที่ Bloom เสนอให้แบ่งเป็น 6 แบบ การสร้างสรรค์ผลงานหรือความรู้ใหม่ด้วยตนเองได้ เป็นการเรียนรู้ขั้นสูงที่ไปถึงตรงนั้นได้น้อย ใครไม่คิดแบบนี้ก็ไม่ต้องใช้ taxonomy ชุดนี้ ยังมีอีกหลายตัวที่ไปหยิบมาใช้ได้ (เช่น เชื่อเรื่อง IQ การตอบข้อสอบโอเน็ต การสอบเข้าแพทย์ วิศวะ นิเทศฯ ได้คือความสำเร็จของการเรียนรู้ ก็ต้องไปดูที่คะแนนสอบ ไม่ต้องดูการสร้างสรรค์ผลงานอะไร) และคนที่หยิบมาใช้ก็ต้องรู้ว่า Bloom’s Taxonomy ไม่ใช่กระบวนการเรียนรู้โดดๆ แต่ควรใช้มันเป็น guideline เพื่อเช็คว่า เราอยู่ตรงไหน หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ เป็นเครื่องมือในการ monitor การเรียนรู้ของเราตามเป้าหมายการเรียนรู้ใน 6 แบบนี้ ขั้นบันไดในสามเหลี่ยม Bloom's หมายถึงปริมาณการเข้าถึงความรู้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า เราเรียนอะไร ด้วยวิธีใด และเพื่อเป้าหมายไหน ในชีวิตจริง บางที ถ้าเราแค่ต้องการรู้เพื่อไปโม้เบ่งใส่เพื่อน เราก็เพียงไปหาความรู้มา แล้วจำมาบอกต่อ แต่เมื่อเราต้องการมีผลงานเป็นของเราเอง ก็ต้องมาจากการเรียนรู้และลงมือทำให้เกิดผลงานตามเป้าหมาย โดยศกร.ของเราก็ใช้ ELC-GROWME เป็นเครื่องมือจัดกระบวนการเรียนรู้จนถึงเป้าหมาย ดังนั้น คนที่เข้าใจ จะไม่ใช้ Bloom's Taxonomy นี้เป็นเครื่องมือประเมินเพื่อการคัดใครออก เราให้คุณค่าของการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ก็จริง แต่ก็ไม่ได้ละเลยคุณค่าของการเรียนรู้แบบอื่นๆ การเรียนรู้ด้วยกระบวนการที่จัดการขึ้นมา จึงทำให้คนที่เรียนได้ความรู้ใหม่ของตัวเขาเอง เกิดแรงบันดาลใจ แม้จะยังไม่ได้สร้างผลงานใหม่ แต่ก็ยังมีธงในใจสำหรับพัฒนาการเรียนรู้ต่อไป