Labels

11.29.2011

การอ่านตีความ


ใบความรู้ที่ ๓ เรื่องการอ่านตีความ

การอ่านตีความ

ในการอ่านนั้น บางครั้งสำนวนข้อความเนื้อเรื่องของสิ่งที่อ่านไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษร แต่ผู้อ่านต้องอาศัยการตีความ จึงจะเข้าใจความหมายของเรื่องที่อ่านได้ตรงเรื่องกับที่ผู้เขียนเขียน ดังนั้น การตีความจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจความหมาย ของเรื่องให้ถูกต้อง หนังสือที่เราอ่านนั้นมีหลายประเภท ผู้อ่านต้องรู้จักลักษณะของเรื่องที่อ่าน แล้วอ่านให้ถูกต้องและตีความตามลักษณะเนื้อหาของเรื่องนั้นๆ

ความหมายของการตีความ
การตีความเป็นความเข้าใจความหมายของคำ สำนวน ข้อความ หรือเนื้อเรื่อง ซึ่งไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษร การอ่านตีความนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้อ่านที่ตรงกันกับประสบการณ์ที่ผู้เขียนสื่อมาในสาร ถ้าผู้อ่านกับผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงกัน ผู้อ่านก็จะตีความได้ถูกต้องตรงกับที่ผู้ส่งสารสื่อมา แต่ถ้าไม่มีประสบการณ์ตรงกัน ผู้เขียนมีประสบการณ์อย่างหนึ่ง ส่วนผู้อ่านมีประสบการณ์อีกอย่างหนึ่ง ก็จะตีความไปตามประสบการณ์ของตน ความหมายทีได้ก็จะไม่ตรงกับความหมายที่ผู้เขียนต้องการส่งมา

สารที่เราอ่านนั้นแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ ประเภทร้อยแก้ว และประเภทร้อยกรอง

การตีความสารประเภทร้อยแก้ว

๑. บทความ มีหลายประเภทแยกไปตามลักษณะเนื้อหา เช่น บทความแสดง ความคิดเห็น บทความทางวิชาการ ประเภทวิจารณ์ ประเภทชีวประวัติ สารคดี การอ่านบทความก็เหมือนการอ่านหนังสือโดยทั่วไป คือ ต้องจับใจความสำคัญให้ได้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร เกิดผลอย่างไรและรู้จักแยกข้อความที่เป็นข้อเท็จจริง พิจารณาให้ได้ว่า ข้อความนั้นมีเหตุผลถูกต้องสมควรเชื่อถือได้เพียงใด
ตัวอย่าง บทความแสดงความคิดเห็น
เป็นที่ยอมรับกันอยู่ว่า ในปัจจุบัน ผู้พูดและผู้เขียนภาษาไทยไม่ค่อยคำนึงถึงแบบแผนของภาษานัก จะเป็นด้วยการศึกษาเล่าเรียนภาษาไทยเดี๋ยวนี้ไม่ได้ผลเหมือนแต่ก่อน เพราะ ขาดครูผู้รู้ภาษาไทยดีพอก็ตามจะเป็นเพราะคะแนนภาษาไทยและชั่วโมงเรียนภาษาไทย ที่กระทรวงกำหนดให้มีน้อยมากจนแทบจะไร้ความหมายสำหรับเด็กนักเรียนก็ตาม หรือจะเป็นเพราะความไม่รับผิดชอบ ส่วนบุคคลผู้คิดเพียงว่าทำอะไรได้ตามใจ เป็นไทยแท้ก็ตาม รวมทั้งสิ้นนี้ย่อมเป็นปัจจัยแห่งความเสื่อมของภาษาไทยทั้งสิ้น ผลจึงปรากฏออกมา ในรูปที่ผิด ๆ แพร่หลายเต็มบ้านเต็มเมืองอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่า จะทางวิทยุ โทรทัศน์ ป้ายโฆษณา จอภาพยนตร์ หรือหนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่าง ๆ ถ้าจะประมวลมาบันทึกกันจริง ๆ ก็จะได้เอกสารแห่งความผิดเล่มมหึมา ซึ่งจะต้องใช้เวลานานปีเต็มที่ กว่าจะทำความเข้าใจให้ถูกต้องโดยตลอดได้ การพูดตัว ” “และการออกเสียงพยัญชนะ ควบกล้ำนั้นแทบจะแก้ไขให้ถูกต้องไม่ได้แล้ว แม้จะพยายามอย่างแสนเข็ญเพียงไรก็ตาม  (ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา)

บทความนี้ผู้เขียนแสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญแก่การเรียนการสอนภาษาไทย ครูที่รู้ภาษาไทยดีพอก็ขาดแคลน และคนไทยปัจจุบันก็ขาดความ รับผิดชอบในการใช้ภาษาไทย ซึ่งตีความได้ว่า ผู้เขียนคิดว่าการใช้ภาษาไทยเสื่อมทรามลง เป็นเพราะคนไทยไม่สังวรในความเป็นไทย ไม่ตระหนักว่าภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ ของความเป็นชาติไทย

การตีความบทความชิ้นนี้จะเห็นได้ว่าผู้อ่านต้องทราบภูมิหลังของเรื่องก่อน คือ มีคน จำนวนมาก เขียนหรือพูดถึงเรื่องคนไทยปัจจุบันเขียนและพูดภาษาไทยไม่ถูกต้อง ผู้เขียน เป็นอาจารย์สอนภาษาไทยในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ต้องพบปัญหานี้ มากในการสอนลูกศิษย์ของท่าน นอกจากนี้ยังมีเรื่องจำนวนครูสอนภาษาไทย ที่รู้ และสอน ภาษาไทยได้ดีมีน้อย และชั่วโมงเรียนภาษาไทยก็ลดลง จากเดิมเคยเรียน ๓ คาบ / สัปดาห์ เหลือเป็น ๒ คาบ / สัปดาห์ คะแนน ๑๐๐ คะแนน ก็จริง แต่เวลาสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือ เข้าเรียนต่อในโรงเรียนแต่ละระดับชั้น ก็พิจารณาคะแนนวิชาอื่นมากกว่าวิชาภาษาไทย คนไทยก็พูดและเขียนผิด ๆ ให้พบเห็นประจำถ้าผู้อ่านทราบภูมิหลังหรือมีประสบการณ์ เช่น ที่เขียนมานี้ ย่อมตีความสารที่ส่งมาได้ตรงกับที่เขียนให้ดูเป็นตัวอย่าง

๒. ข่าว ในการอ่านข่าว มีหลักอยู่ว่า จะต้องอ่านพาดหัวข่าวซึ่งเป็นข้อความสั้นๆ ตัวโตๆ ก่อนเสมอ เพื่อให้รู้เรื่องราวทั้งหมดจากหนังสือพิมพ์ แล้วจึงอ่านสรุปข่าวย่อ ๆ ซึ่งข่าวทุกข่าวจะมีสรุปหัวข้อข่าวก่อนที่จะบรรยายรายละเอียด จะทำให้ผู้เรียนทราบว่า ข่าวนั้นเป็นข่าวอะไร กล่าวถึงใครทำไมจึงเป็นเช่นนี้ และข่าวนี้เกิดที่ไหน ทำให้เกิดผลอย่างไร แล้วจึงอ่านข้อความละเอียดของข่าวต่อไป
ข่าวทั่วไป จะไม่ค่อยต้องอ่านแบบตีความ เพราะการเขียนข่าวจะพยายามใช้ภาษา ชาวบ้านอ่านแล้วเข้าใจได้ทันที แต่ก็มีข่าวบางประเภทที่ต้องอาศัยการอ่านแบบตีความ จึงจะเข้าใจความหมายได้ถูกต้อง ได้แก่ ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าววิชาการต่าง ๆ ข่าวพวกนี้ผู้อ่านต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่อ่านพอสมควร ต้องทราบภูมิหลังของข่าว และต้องมีประสบการณ์พอจึงจะตีความได้ โดยเฉพาะข่าวการเมือง จะมีการใช้ภาษาที่อาจ ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างใดอย่างหนึ่ง การเล่นสำนวนภาษาจะพบเสมอในการใช้ภาษา ของนักการเมือง และนักข่าวการเมือง ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นต้องอ่านแบบตีความและต้องหาความรู้ประกอบข่าวนั้นด้วย เพื่อการตีความจะได้มีความถูกต้องยิ่งขึ้น 

ตัวอย่าง ข่าวจากหนังสือพิมพ์รายวัน

(ส่วนพาดหัวข่าว) พระวรชายาทรงห่วงเด็ก ให้ช่วยกวดขันโฆษณาทีวี
(ส่วนความนำ) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายา ทรงมีความห่วงใยในเยาวชน ของชาติ ฝากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยกวดขันโฆษณาทีวี ซึ่งมีอิทธิพลต่อเด็กอย่างมาก
(ส่วนเนื้อหาข่าว) ในวโรกาสที่เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดการสัมมนา การพัฒนาเยาวชนเพื่อพัฒนาสังคมซึ่งฝ่ายเนติธรรมสภาสตรีแห่งชาติฯ และคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันจัดขึ้นที่หอประชุมบ้านมนังคศิลา เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในตอนหนึ่งของพระดำรัสเปิดการสัมมนา ทรงมีรับสั่งว่า
เยาวชนและเด็กเป็นความหวังที่สำคัญของประเทศในการที่จะเป็นผู้ธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงและรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของชาติให้ยั่งยืนต่อไป แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ระยะนี้เยาวชนของเราบางส่วนเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมลงทั้งในความประพฤติและจิตใจ การกระทำที่ไม่ถูกต้องหลายอย่าง มีท่าทีจะกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปยอมรับและสมยอม ให้กระทำกันได้เป็นธรรมดา สภาวะการณ์เช่นนี้เป็นปัญหาใหญ่ จำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไข และช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะแท้จริงแล้วเยาวชนเหล่านั้น มิได้ต้องการ ทำตัวให้ตกต่ำหรือให้เป็นปัญหาแก่สังคมประการใด
“ทุกคนต้องการจะเป็นคนดีมีประโยชน์ ต่อสังคมและประเทศชาติ ด้วยกันทั้งนั้น แต่การที่จะบรรลุถึงความประสงค์นี้ได้จำต้องอาศัย ผู้แนะนำควบคุมให้ดำเนินการอย่างถูกต้องผู้ที่มีหน้าที่ด้านนี้ทุกฝ่ายทุกระดับจึงต้องร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างเยาวชนเหล่านั้นให้พัฒนาไปในทางที่ถูกในทุก ๆ ด้าน เพื่อที่จะได้เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองดีมีคุณภาพสามารถสืบทอดทุกสิ่งทุกอย่างต่อไปได้ ดังที่ทุกคนปรารถนา
ก่อนเสด็จกลับ ได้เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องผู้บริโภคที่ควรรู้ด้วย ศ.ลิ้นจี่ หะวานนท์ รองประธานสภาสตรีฯ และประธานฝ่ายเนติธรรม ซึ่งเป็นผู้จัดการสัมมนา ในครั้งนี้ ได้เปิดเผยว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรชายา ทรงเป็นห่วงใย เยาวชนของชาติมาก โดยเฉพาะการจัดสัมมนานี้ก็ทรงชื่นชมมาก เพราะเหตุว่า เรื่องการ บริโภค ขณะนี้มีสิ่งที่จะต้องช่วยเหลือประชาชนมากทีเดียว โดยเฉพาะการโฆษณาในทีวี ตอนนี้ไม่ค่อยจะดี
มีรับสั่งว่าน่าจะได้มีการดูแลกันบ้าง พร้อมกับฝากให้คณะกรรมการ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป อย่าทำเพียงแค่นี้ และในการที่ได้นำเยาวชนมาอบรมเช่นนี้ ทรงให้การสนับสนุนว่า ทำถูกต้องแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ศ.ลิ้นจี่ ก็ได้ กราบทูลว่า ถ้าจะให้ดีต้องอบรมผู้ใหญ่ด้วยแล้ว มาพบกันครึ่งทางจะได้ไม่สวนทางกัน แต่พระวรชายาทรงแย้งว่าผู้ใหญ่นั้นดื้อ จึงควรให้ความรู้และคำแนะนำที่ถูกต้องแก่เด็ก (ไทยรัฐ พ.ศ. ๒๕๒๕)

เมื่ออ่านข่าวตามวิธีการที่เสนอแนะมาแล้ว คราวนี้ลองถามตัวเองว่า ๑) อ่านข่าวได้รวดเร็วและเข้าใจเนื้อเรื่องโดยตลอดหรือไม่ ๒) ข่าวนี้กล่าวถึงใคร ทำอะไรที่ไหนและผลจากข่าวนี้เป็นอย่างไร ๓) ข่าวนี้เป็นจริงหรือไม่ อย่างไร มีข้อความที่น่าเชื่อถือได้หรือไม่ พิจารณาให้ถ่องแท้ หากสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้และฝึกฝนตนเองสม่ำเสมอ ก็จะอ่านข่าว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๓. ประกาศและโฆษณา ในประกาศและโฆษณาต่าง ๆ ส่วนใหญ่ใช้ภาษาง่าย ๆ และมีความหมายตรงตามตัวอักษรแต่ก็มีประกาศ และโฆษณาจำนวนมาก เช่นกัน ที่ต้องตีความให้ดี ไม่เช่นนั้นก็จะเข้าใจไม่ตรงกันหรืออาจถูกหลอกให้ซื้อสินค้า หรือ บริการ เพราะความเข้าใจผิด การอ่านสารประเภทนี้ บางครั้งต้องอาศัยความรู้ประกอบด้วย

ตัวอย่าง โฆษณาเครื่องตัดไฟยี่ห้อหนึ่งใช้ข้อความว่า
 “ป้องกันไฟดูด ไฟรั่ว ไฟช็อต ไฟเกิน ได้แน่นอนกว่า วางใจได้ มาตรฐานระบบ GFCI สหรัฐอเมริกา เซอร์กิตมาตรฐาน U/C สหรัฐอเมริกา มีจำหน่ายตามร้านไฟฟ้าชั้นนำทั่วประเทศ พูดถึงเครื่องตัดไฟฟ้า ช่างไฟพูดถึง……”

การอ่านตีความโฆษณาชิ้นนี้ต้องมีความรู้เรื่องไฟดูด ไฟช็อต ไฟรั่ว และไฟเกินว่า เมื่อมีไฟรั่วจากอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือสายไฟ ถ้ามีใครไปแตะต้องตรงที่มีไฟรั่วอยู่ก็จะถูกไฟดูด และถ้าใช้ไฟเกินกำลังไฟในหม้อแปลงไฟฟ้า ก็จะเกิดไฟช็อตตามมา นอกจากนั้นต้องรู้ว่า เครื่องตัดไฟคืออะไร รูปร่างเป็นอย่างไร มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง มาตรฐานระบบ GFCI และเซอร์กิต U/C เป็นอย่างไร
ถ้าผู้อ่านไม่มีความรู้เรื่องดังกล่าว ก็ไม่อาจตีความข้อความโฆษณาชิ้นนี้ได้ เพราะไม่มีความรู้ จึงไม่เข้าใจความหมายซึ่งนำไปสู่ปัญหา คือ ตัดสินใจ ไม่ได้ว่า จะซื้อสินค้าชิ้นนี้ดีหรือไม่ แต่การโฆษณาสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าพิเศษเฉพาะผู้ใช้บางอาชีพแล้ว มักใช้ภาษาง่ายๆ อ่านแล้วเข้าใจ หรือตีความได้ทันที เช่น น้ำมันถั่วเหลืองรินคุณค่าถั่วเหลืองเพื่อสุขภาพผู้อ่านตีความได้ทันทีว่าน้ำมันพืชตรานี้ทำมาจากถั่วเหลืองรับประทานแล้วสุขภาพแข็งแรง

การตีความสารประเภทร้อยกรอง
การอ่านตีความสารประเภทร้อยกรอง นอกจากผู้อ่านต้องมีประสบการณ์ มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน และทราบภูมิหลังของเรื่องและผู้เขียนแล้ว ผู้อ่านยังต้องมีความรู้เรื่อง ศัพท์ด้วย เพราะผู้แต่งร้อยกรอง มักชอบใช้คำศัพท์ที่ไม่ใช่ศัพท์ปกติที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้เพื่อความเด่นในด้านการใช้ภาษา ผู้แต่งร้อยกรองบางคนถึงกับผูกศัพท์ขึ้นมาใหม่เลยก็มี ฉะนั้น ความรู้เรื่องศัพท์จึงสำคัญมากในการอ่านตีความสารประเภทร้อยกรอง จะขอยกตัวอย่าง สารประเภทร้อยกรองเพื่อสอนคุณธรรมเพราะการอ่านสารประเภทนี้ ต้องใช้การอ่านแบบตีความเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเรื่องคุณธรรมและศาสนา เป็นปรัชญา ที่ลึกซึ้ง และผู้ประพันธ์มักเขียนโดยใช้การเปรียบเทียบหรือใช้สัญลักษณ์ การอ่านตีความ สารประเภทร้อยกรองเพื่อสอนคุณธรรม จะมุ่งตีความถึงคติธรรม ค่านิยม และวิถีชีวิต ของมนุษย์ในสังคมระยะสั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไรเป็นสำคัญ จะยกตัวอย่างการอ่านตีความ โคลงโลกนิติ บทที่ ๓๑๕ ของกรมพระยาเดชาดิศร ดังนี้

บรรพชิตกายซูบไซร้     ดูงาม
จตุบาทอ้วนรูปทราม      รักเลี้ยง
ชายชาญวิชางาม      เป็นสง่า
หญิงสู่สามีเคี้ยง     คู่ความดูงาม

โคลงโลกนิติบทนี้ กล่าวถึงความงามของคน และสัตว์ที่โลกมีค่านิยมว่าควรงามอย่างไร ให้เหมาะสมกับสถานภาพในสังคม ผู้อ่านจะตีความได้ว่าพระภิกษุควรจำศีลภาวนา นั่งสมาธิ ไม่ควรฉันแล้วก็จำวัดจนร่างกายสมบูรณ์ พระผอมน่าเสื่อมใสกว่า ส่วนสัตว์เลี้ยง ต้องขุนให้อ้วน จึงจะน่าเลี้ยง ตรงนี้เขียนเป็นเชิงเปรียบเทียบ อาจตีความให้ลึกลงไปได้ว่า คนโบราณตำหนิ พระภิกษุที่เอาแต่ฉันแล้วจำวัด ไม่บำเพ็ญศีลภาวนาจนร่างกายอ้วนพี ทำตัวเทียบเท่ากับสัตว์เลี้ยงของสังคมเท่านั้น ส่วนบาทที่สามสอนว่าผู้ชายงามสง่า ที่การเป็นผู้มีวิชาความรู้ดี บาทที่สี่สอนว่า ผู้หญิงจะงามเมื่อมีสามีเคียงคู่อยู่ด้วย สำหรับ บาทที่สี่นี้ถ้าอ่านแบบตีความ อาจตีความได้เป็น ๒ ความหมาย คือ ผู้หญิงจะงามต้องมีสามี รักใคร่ เอาใจใส่ดูแลให้ความสุข หรือผู้หญิงจะงามจริง ก็ต้องเป็นคนมีใจอยู่ที่สามี เพียงคนเดียว ร่วมทุกข์ร่วมสุขเคียงคู่กับสามีทุกเมื่อ

สรุป
๑. การตีความเป็นการทำความเข้าใจความหมายของคำ สำนวน ข้อความ หรือเนื้อเรื่อง ซึ่งไม่ได้มีความหมายตามอักษร การอ่านตีความ ผู้อ่าน ต้องมี ประสบการณ์ที่ตรงกันกับผู้เรียนที่สื่อมาในสาร
๒. สารที่เราอ่านโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทร้อยแก้ว และ ประเภทร้อยกรอง สารประเภทร้อยแก้ว ได้แก่ บทความ ข่าว ประกาศ และโฆษณาต่าง ๆ

http://www.enfe.go.th/enfe_2548/thai/thai01/thai11060.html

No comments:

Post a Comment