Labels

10.30.2011

เรียนรู้ไปกับน้ำท่วม 2554 (1)

น้ำท่วมปีนี้หนักหนาสาหัส เรียกว่า ทำเอาเครียดไปตามๆ กัน  แต่เด็กเพลินฯ ต้องฝึกมองปัญหาเป็นโอกาส เป็นบทเรียนให้ได้  มาช่วยกันรวบรวมบทเรียนกันดีกว่า

บทเรียนที่ 1: คนไทยเน้นการวิ่งตามปัญหาโดยไม่มีข้อมูล มากกว่าการเตรียมการ

โฉมหน้าผู้บริหารจัดการน้ำท่วมปี 2554
ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำ: ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 54 เมืองไทยถูกกระหน่ำด้วยพายุนกเตน ตามมาด้วยไห่ถาง นาเสด และนาลแก  ปริมาณน้ำฝนขนาดไหนที่เราต้องจัดการ พื้นดินดูดซับน้ำได้มากน้อยเท่าไหร่ เขื่อนแต่ละเขื่อนรับน้ำได้ขนาดไหน  ควรจะทำแผนการระบายน้ำให้เขื่อนมีพื้นที่รอรับน้ำฝนจากมรสุมลูกถัดไปอย่างไร  เมื่อจะปล่อยน้ำออกมา ทางเดินของน้ำเป็นอย่างไร  จะกระทบจังหวัดไหน อำเภอไหนบ้าง  พื้นที่ทางน้ำผ่านมี contour คือภูิมิประเทศ สูงต่ำยังไง ตรงไหนเป็นแอ่ง ตรงไหนที่ดอน มีอุปสรรคของทางน้ำบ้างไหม  ตรงไหนเป็นจุดสำคัญที่ต้องป้องกัน ฯลฯ ความรู้ที่simple ที่สุดที่ต้องมีก่อนจัดการปัญหาน้ำ คือ ธรรมชาติของน้ำหรือฟิสิกส์ของน้ำ  น่าเสียดายที่ข้อมูลเยอะแยะที่ได้จากเทคโนโลยี ดาวเีทียม GIS และข้อมูลจาก CNN, CIA, กลับไม่เห็นว่าจะมาช่วยเราในยามวิกฤตได้

ข้อมูลด้านการบริหารรัฐกิจ: เมืองไทยเน้นการกระจายอำนาจการบริหารและการปกครอง แต่มีใครรู้บ้างว่า หน่วยงานไหนรับผิดชอบเรื่องของน้ำบ้าง ใครมีองค์ความรู้ด้านการจัดการน้ำ จะประสานงานกันอย่างไร ใครคือคนที่จะได้รับผลกระทบ ชุมชนที่น่าจะจมบาดาลมีสภาพเป็นอย่างไร ใครเป็นกลุ่มแรกที่ต้องเข้าช่วยเหลือ  นิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็น "อู่ข้าวอู่น้ำของสังคมทุนนิยม" ต้องรับมืออย่างไร มีใครรับผิดชอบที่จะบอกเขาให้เตรียมตัวไหม ฯลฯ  การกระจายการปกครองให้ท้องถิ่น แต่ก็เห็นอยู่ว่า ท้องถิ่นทุกวันนี้ไม่มีข้อมูลลูกบ้านของตัวเอง หรือตรอกซอกซอยอะไรอยู่ตรงไหน เราจึงมีคนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือมากมายขนาดนี้

ดร.สมิทธ ธรรมสโรช มูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติไม่ได้อยู่ในคปภ.
ปราโมทย์ ไม้กลัด ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ
ข้อมูลด้านทุกข์สุขของชาวบ้าน: ข้อมูลนี้ต้องการความละเอียดเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ปัจจัย 4 อะไรที่จะได้รับผลกระทบ ที่อยู่อาศัย อาหารน้ำ ยารักษาโรค ในยุคที่เราพึ่งพาเทคโนโลยี นอกจากเรื่องน้ำกินน้ำใช้แล้ว ห้องน้ำ ไฟฟ้า โทรศัพท์ ทีวี และการเดินทางต้องเป็นปัจจัยที่นำมาพิจารณาเตรียมการรับมือ

เรื่องที่ต้องกังวลมากที่สุดคือ ไฟฟ้า กับน้ำประปา  มีข้อมูลไหมว่า เมื่อไหร่จะถูกตัดไฟ  หม้อแปลงไฟ หรือมิเตอร์ไฟฟ้าติดตั้งอยู่ที่ระดับปลอดภัยหรือไม่ ระบบการจ่ายไฟฟ้า และน้ำสำรองอยู่ในสภาพไหน  ต่อมาก็ต้องชวนกันดูว่า ใครมีนวัตกรรมอะไรที่จะมาช่วยชาวบ้านได้บ้าง โดยเฉพาะเมื่อเขาต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติที่มีมูลค่าของคนไทยคือบ้าน กับรถยนต์  มีวิธีไหนที่จะช่วยให้เสียหายน้อยที่สุด

แต่ดูเหมือนการเตรียมการมีน้อยมากๆ ไม่มีใครพูดถึงแผนรับมือกับภาวะน้ำท่วมอย่างจริงจัง ทั้งที่อยุธยาถูกน้ำท่วมมาตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้ว ซึ่งนานพอที่รัฐบาลจะทำแผนรับมือเพื่อลดความเสียหาย  แต่ก็ยังเลือกวิธีเดิมๆ คือ การตั้งคณะทำงานที่มีอดีตอธิบดีตำรวจเป็นประธาน เรียกว่า ศปภ. แต่ใครในคณะทำงานนี้มีภูมิรู้พอเป็นที่พึ่งของนายกฯ ได้  ทำไมยังส่งนายกฯ มาให้หน้าแตกอยู่บ่อยๆ  ทุกครั้งที่นายกฯ บอกว่า "เอาอยู่ค้า" พนังกั้นน้ำแตกทุกที  ล่าสุดบอกว่า เราจะไม่ย้ายศปภ.ไปจากดอนเมือง หม้อแปลงไฟก็ระเบิดซะจนต้องย้ายตัวเองออกมา

ผู้ว่ากทม.ก็เช่นเดียวกัน  ต้องทำงาน routineให้ดี เร่งจัดการให้เครื่องสูบน้ำใช้การได้ทุกเครื่อง  จัดการขุดลอกคลองกำจัดเครื่องกีดขวางทางน้ำ พูดคุยกับชุมชนต่างๆ ในกทม.เพื่อขอความร่วมมือ  เตรียมแผนสำรองเพื่อการดูแลให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพ จัดเตรียมการอพยพผู้คน จะเอาเขาไปที่ไหน เตรียม service อะไรบ้าง ฯลฯ  แต่ผู้ว่าก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า

ผู้นำของเราสอบตกทั้งคู่เพราะไม่ให้ความสำคัญเรื่องการเตรียมการ แถมยังแก้ปัญหาก็ไม่เก่งอีก


เข้าถึง จริงใจ สู้ไม่ถอย ... Hero ตัวจริง
วันที่ชาวบ้านหมดแรง ยังมีทหารเป็นความหวังสุดท้าย
ทหาร นักแก้ปัญหา = ฮีโร่ตัวจริง

เมื่อรัฐสอบตกทั้งเรื่องเตรียมการและแก้ปัญหา ... ผลคือชาวบ้านเดือดร้อน นิคมอุตสาหกรรมเสียหาย ฯลฯ บทบาทพระเอกขี่ม้าขาวที่มาช่วยกู้สถานการณ์จึงตกเป็นของทหารหาญ  จิตอาสาของชาวบ้าน และสื่อมวลชนอย่างไม่ค้านสายตากรรมการ

ได้ใจไปเต็มๆ
อะไรๆ ก็ทหาร ที่พึ่งสุดท้ายของสังคม
Hero ตัวจริงทุกคนเลย
ทั้ง 3 กลุ่มคือนักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เยี่ยมยอด  และคงจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกยาวนานเพราะผู้บริหารไม่ทำงานแบบ proactive คือก่อนปัญหาจะเกิด ก็เตรียมพร้อมด้วยความเป็นมืออาชีพ และข้อมูลที่แม่นยำ  เราไม่คาดหวังให้นายกฯต้องรู้เรื่องน้ำ แต่เขาต้องใช้คนให้เป็น



(รูปเด็ดๆ หลายรูปได้จาก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=kaenjai-pa&month=24-10-2011&group=6&gblog=10)

ถือเป็นเรื่องที่เด็กเพลินฯ ต้องเรียนรู้เสริมทักษะการทำงาน
   

10.29.2011

เลื่อนเปิดเทอม

เปิดเทอมคราวนี้ จำใจต้องเลื่อนวันเปิดเทอมเนื่องจากอุทกภัยครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี มีบทเรียนหลายอย่างที่เราจะชวนกันเรียนรู้ 

ที่บ้านแม่ต้นจมน้ำไปแล้วค่ะ   ที่จอดรถน้ำถึงหน้าอก ในบ้านชั้น 1 สูงประมาณ 1.20 เมตร  ต้องยอมให้ตู้เย็นลอยตุ๊บป่อง ใกล้กับเครื่องซักผ้าที่จมน้ำ พร้อมตู้หนังสือ SB ก็ได้ say goodbye กันไปเรียบร้อยแล้ว 7 ตู้ค่ะ (ต่อไปจะไม่ซื้อแบบนี้อีกแล้ว ทั้งแพง และไม่ทนน้ำ) กับหนังสือแสนรักอีก 3 ลังที่นึกว่า seal กันน้ำดีแล้ว  แต่คงไม่มากไปกว่าบ้านครูออย @ บางบัวทอง ครูยู และครูแพท @ บางใหญ่ และอีกหลายบ้าน   เรื่องที่น่าเสียใจที่สุดคือ คุณครูต้อย (อดีตครูใหญ่ประถม) ก็สูญเสียคุณพ่อไประหว่างการอพยพหนีน้ำท่วมด้วย บางบ้าน (รวมทั้งบ้านต้นเอง) มีเหตุให้อพยพไม่ได้ก็ต้องทนอยู่กับน้ำท่วม 

ภาพ 27 ต.ค. 54 ยังไม่ท่วม แต่วันนี้น้ำขึ้นมาถึงบันไดขั้นที่ 1 แล้ว
เขตทวีวัฒนาได้ประกาศอพยพบ้านริมคลองมหาสวัสดิ์และให้วิทยาลัยทองสุขเป็น หนึ่งในศูนย์อพยพ  โรงเรียนเราอยู่ใกล้ๆ ก็คงพอเอาตัวรอดได้  และก็ได้เปิดให้เป็นที่พักพิงของคุณครูและครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อน  แต่สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ ก็ได้เกลี้ยกล่อมคุณครูให้ไปพักพิงต่างจังหวัดเพื่อความปลอดภัย 

นักเรียนของเราเป็นอย่างไรกันบ้าง  มีใครอพยพไปอยู่ที่ไหนกัน ช่วยส่งข่าวด้วยนะคะ

เรื่องที่อยากหารือคือ การที่โรงเรียนเลื่อนการเปิดเทอมสำหรับนักเีรียนไปเป็น 15 หรือ 17 พ.ย. -- ตอนนี้เป็น 28 พ.ย. แล้ว ทำให้เวลาเรียนหายไปแล้ว 4-5 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย  เราจะต้องหาวิธีชดเชย  อาจจะเป็นเสาร์-อาทิตย์เพื่อให้ทันการสอบ O-NET  สำหรับนักเรียนชั้น 9 และ 12 ต้นเดือนกุมภาพันธ์  (ยังไม่มีทีท่าว่าจะเลื่อนการสอบ) ก็มีหลายแนวทางที่เราทำได้ เช่น
ทางเดินเข้าโรงเรียน วันนี้น้ำท่วมถึงเข่าแล้ว
  • เพิ่มชั่วโมงเรียนในแต่ละวัน ของ  ม.ต้นเป็นจาก 7 คาบ เป็น 8 คาบ (จะเลิกเรียนประมาณ 16:30 น.)  และ ม.ปลายโดยเฉพาะชั้น 11 อาจจะต้องเลิก 17:30 น. ในบางวัน (เนื่องจากวันศุกร์จะไปเรียนร.ด.กันตั้งแต่ประมาณ 11 โมง ไปจนถึงกลางเดือนธันวาคม)
  • ถ้าเราจะไม่เลิกเรียนเย็น  อีกทางเลือกหนึ่งคือ มาเรียนในวันเสาร์ 
  • กิจกรรมอื่นๆ เช่น ชื่นใจฯ ของน้องม.ต้นก็อาจจะเริ่มทำได้ตั้งแต่ตอนนี้  ซึ่งแม่ต้นจะให้โจทย์ทาง e-mail เืพื่อให้คิดและรวบรวมข้อมูลไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องคอยมาเริ่มตอนเปิดเรียน ส่วนสารนิพนธ์ของพี่ม.ปลายก็ให้เริ่มทำไปได้เรื่อยๆ  งานรายบุคคลนี้ใครทำได้ก็ทำไป ไม่ต้องรอทำตอนเปิดเทอม  คุณครูหลายคนก็ยัง on-line อยู่
  • บางวิชาก็อาจจะให้นักเรียนได้ทำงานด้วยตัวเองที่บ้านได้ก่อน เช่น อ่านหนังสือนอกเวลา ฯลฯ ตามที่คุณครูให้กรอบไป
  • เทอมนี้มีกิจกรรมเยอะมาก  นอกจากกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเรียน (เช่นภาคสนาม สอบ O-NET และการเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย) ก็ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น แดงชาด  และ season กีฬาของทีมครูกีฬา  ส่วนการไปธรรมยาตราปีนี้ กำลังจะหารือกันว่า เราอาจจะทำกิจกรรมอย่างอื่นแทนสำหรับนักเรียนชั้น 10 
ใครมีไอเดียอะไรกรุณาส่งข่าวมาด้วยนะคะ  ถือว่าช่วยกันคิดหาทางออกกันค่ะ  สู้สู้ค่ะ  (dhon63@gmail.com)

10.07.2011

The Space Monsters

The Space Monsters @ Plearnpattana
วันสุดท้ายของภาคเรียนนี้  เด็กๆชั้น 9 ขอปิดท้ายด้วยการแสดงของวง Space Monsters -- 3 หนุ่มกับ 1 สาวมือกลอง และแถมนักร้องรับเชิญอีก 1 สาว  มีพี่น้องและเพื่อนฝูงมาร่วมกรี๊ดกันพอประมาณ  เล่นจนจบ 7 เพลงและแถมอีกเล็กๆ น้อยๆ ตามคำเรียกร้องของแฟนเพลง ประเมินกันแบบไม่อวยเกินไปว่า ไม่เลวทีเดียว ...

แต่สมาชิกวง Space Monsters กลับทำหน้าเซ็งเพราะผิดหวังที่หลายอย่างไม่เป็นไปตามคาด  ตั้งแต่เรื่องของเวลาที่ล่วงเลยมาจากแผนการแสดง เพราะยังไม่พร้อมสักที   ความผิดพลาดในการ sound check  ทำให้มือกลองตีกลองไปทั้งที่ไม่ได้ยินเสียงคนร้องเลย   Solo guitar กำลัง slide กีตาร์สุดสวิง เสียงที่สูงเกินทำให้ระบบเสียง shut down  ต้อง restart กันใหม่  นี่ยังไม่นับว่า นักร้องนำเป็นหวัดอยู่ด้วย และ ฯลฯ
แฟนเพลง สังเกต 3 สาววัยจ๊าบ 3 คนแถวหลัง

หลังปิดการแสดง  สมาชิกวงมีปฏิกิริยาต่างกัน บางคนมาขอโทษที่ไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อม เน้นแต่จะเล่นดนตรีอย่างเดียว บางคนก็ตำหนิตัวเองว่า ห่วยสุดๆ  แต่แม่ต้นดีใจที่ได้ยินนักร้องนำบอกว่า  คราวหน้าต้องดีกว่านี้ ผมขอเล่นงานมหกรรมดนตรีมัธยมเพื่อแก้ตัว
หัวหน้าวง ต้องเข้มแข็ง
นักร้องนำจอมลุย
ประสบการณ์แบบนี้ถือเป็นบททดสอบที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับการเติบโต  เด็กๆ จะเข้าใจและยอมรับได้ไหมว่า ความสำเร็จของการทำงานแต่ละครั้งไม่ใช่มาง่ายๆ  นักดนตรีที่แสดงคอนเสิร์ตประสบความสำเร็จต้องอาศัยความรู้ ประสบการณ์ และความพร้อม  เพราะประสบการณ์จะช่วยให้คาดเดาเหตุการณ์ และความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ   สติ และไหวพริบจะช่วยให้แก้สถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดี ซึ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการฝึกฝน

ว่าที่ "แหลม มอริสัน" เบอร์ 2 มั้ยเนี่ย
ไม่ได้ยินเสียงคนร้องก็ยังตีกลองแน่นปึ้ก
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การที่เด็กๆ เริ่มจะเข้าใจได้แล้วว่า  โลกนี้ไม่มีอะไร perfect  ไม่มีอะไรการันตีความสำเร็จ  แต่ในความไม่ perfect นี้คือพื้นที่ให้เราพัฒนาไม่มีสิ้นสุด   อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด ไม่ใช่เครื่องเสียง หรือ sound check หรือ ฯลฯ  แต่แท้จริงแล้วคือใจที่ฝ่อได้ง่ายนั่นเอง

ประสบการณ์อย่างนี้จะช่วยให้เขาตัดสินใจได้ดีขึ้นว่า  ในวินาทีที่เกิดความผิดพลาด เขามีทางเลือก 2 ทาง จะหาข้อแก้ตัวสารพัด แล้วจมอยู่กับความผิดพลาดนั้น  หรือจะทำความเข้าใจกับความผิดพลาด แล้วดึงตัวเองออกมาสู่สมดุลย์ ตั้งหลักเพื่อจะก้าวต่อไป

ใครพร้อมลุยไปข้างหน้าแล้วบ้าง ... ยกมือขึ้น

บทบาทของพ่อแม่และครูที่เป็นคนจัดการทุกอย่างให้กำลังจะลดน้อยลง  จากนี้ไปจะเหลือแต่เพียงตัวเขาที่ต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง และรับคำชื่นชมควบคู่ไปกับการเผชิญอุปสรรค ต้องฝึกฝนตนเองเพื่อก้าวเดินต่อไปสู่จุดหมาย  เมื่อเข้าใจอย่างนี้ได้ ชีวิตที่เหลือก็พร้อมสนุกกับมัน ... แบบเด็กเพลินฯ ตัวจริง