Labels

10.30.2011

เรียนรู้ไปกับน้ำท่วม 2554 (1)

น้ำท่วมปีนี้หนักหนาสาหัส เรียกว่า ทำเอาเครียดไปตามๆ กัน  แต่เด็กเพลินฯ ต้องฝึกมองปัญหาเป็นโอกาส เป็นบทเรียนให้ได้  มาช่วยกันรวบรวมบทเรียนกันดีกว่า

บทเรียนที่ 1: คนไทยเน้นการวิ่งตามปัญหาโดยไม่มีข้อมูล มากกว่าการเตรียมการ

โฉมหน้าผู้บริหารจัดการน้ำท่วมปี 2554
ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำ: ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 54 เมืองไทยถูกกระหน่ำด้วยพายุนกเตน ตามมาด้วยไห่ถาง นาเสด และนาลแก  ปริมาณน้ำฝนขนาดไหนที่เราต้องจัดการ พื้นดินดูดซับน้ำได้มากน้อยเท่าไหร่ เขื่อนแต่ละเขื่อนรับน้ำได้ขนาดไหน  ควรจะทำแผนการระบายน้ำให้เขื่อนมีพื้นที่รอรับน้ำฝนจากมรสุมลูกถัดไปอย่างไร  เมื่อจะปล่อยน้ำออกมา ทางเดินของน้ำเป็นอย่างไร  จะกระทบจังหวัดไหน อำเภอไหนบ้าง  พื้นที่ทางน้ำผ่านมี contour คือภูิมิประเทศ สูงต่ำยังไง ตรงไหนเป็นแอ่ง ตรงไหนที่ดอน มีอุปสรรคของทางน้ำบ้างไหม  ตรงไหนเป็นจุดสำคัญที่ต้องป้องกัน ฯลฯ ความรู้ที่simple ที่สุดที่ต้องมีก่อนจัดการปัญหาน้ำ คือ ธรรมชาติของน้ำหรือฟิสิกส์ของน้ำ  น่าเสียดายที่ข้อมูลเยอะแยะที่ได้จากเทคโนโลยี ดาวเีทียม GIS และข้อมูลจาก CNN, CIA, กลับไม่เห็นว่าจะมาช่วยเราในยามวิกฤตได้

ข้อมูลด้านการบริหารรัฐกิจ: เมืองไทยเน้นการกระจายอำนาจการบริหารและการปกครอง แต่มีใครรู้บ้างว่า หน่วยงานไหนรับผิดชอบเรื่องของน้ำบ้าง ใครมีองค์ความรู้ด้านการจัดการน้ำ จะประสานงานกันอย่างไร ใครคือคนที่จะได้รับผลกระทบ ชุมชนที่น่าจะจมบาดาลมีสภาพเป็นอย่างไร ใครเป็นกลุ่มแรกที่ต้องเข้าช่วยเหลือ  นิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็น "อู่ข้าวอู่น้ำของสังคมทุนนิยม" ต้องรับมืออย่างไร มีใครรับผิดชอบที่จะบอกเขาให้เตรียมตัวไหม ฯลฯ  การกระจายการปกครองให้ท้องถิ่น แต่ก็เห็นอยู่ว่า ท้องถิ่นทุกวันนี้ไม่มีข้อมูลลูกบ้านของตัวเอง หรือตรอกซอกซอยอะไรอยู่ตรงไหน เราจึงมีคนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือมากมายขนาดนี้

ดร.สมิทธ ธรรมสโรช มูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติไม่ได้อยู่ในคปภ.
ปราโมทย์ ไม้กลัด ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ
ข้อมูลด้านทุกข์สุขของชาวบ้าน: ข้อมูลนี้ต้องการความละเอียดเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ปัจจัย 4 อะไรที่จะได้รับผลกระทบ ที่อยู่อาศัย อาหารน้ำ ยารักษาโรค ในยุคที่เราพึ่งพาเทคโนโลยี นอกจากเรื่องน้ำกินน้ำใช้แล้ว ห้องน้ำ ไฟฟ้า โทรศัพท์ ทีวี และการเดินทางต้องเป็นปัจจัยที่นำมาพิจารณาเตรียมการรับมือ

เรื่องที่ต้องกังวลมากที่สุดคือ ไฟฟ้า กับน้ำประปา  มีข้อมูลไหมว่า เมื่อไหร่จะถูกตัดไฟ  หม้อแปลงไฟ หรือมิเตอร์ไฟฟ้าติดตั้งอยู่ที่ระดับปลอดภัยหรือไม่ ระบบการจ่ายไฟฟ้า และน้ำสำรองอยู่ในสภาพไหน  ต่อมาก็ต้องชวนกันดูว่า ใครมีนวัตกรรมอะไรที่จะมาช่วยชาวบ้านได้บ้าง โดยเฉพาะเมื่อเขาต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติที่มีมูลค่าของคนไทยคือบ้าน กับรถยนต์  มีวิธีไหนที่จะช่วยให้เสียหายน้อยที่สุด

แต่ดูเหมือนการเตรียมการมีน้อยมากๆ ไม่มีใครพูดถึงแผนรับมือกับภาวะน้ำท่วมอย่างจริงจัง ทั้งที่อยุธยาถูกน้ำท่วมมาตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้ว ซึ่งนานพอที่รัฐบาลจะทำแผนรับมือเพื่อลดความเสียหาย  แต่ก็ยังเลือกวิธีเดิมๆ คือ การตั้งคณะทำงานที่มีอดีตอธิบดีตำรวจเป็นประธาน เรียกว่า ศปภ. แต่ใครในคณะทำงานนี้มีภูมิรู้พอเป็นที่พึ่งของนายกฯ ได้  ทำไมยังส่งนายกฯ มาให้หน้าแตกอยู่บ่อยๆ  ทุกครั้งที่นายกฯ บอกว่า "เอาอยู่ค้า" พนังกั้นน้ำแตกทุกที  ล่าสุดบอกว่า เราจะไม่ย้ายศปภ.ไปจากดอนเมือง หม้อแปลงไฟก็ระเบิดซะจนต้องย้ายตัวเองออกมา

ผู้ว่ากทม.ก็เช่นเดียวกัน  ต้องทำงาน routineให้ดี เร่งจัดการให้เครื่องสูบน้ำใช้การได้ทุกเครื่อง  จัดการขุดลอกคลองกำจัดเครื่องกีดขวางทางน้ำ พูดคุยกับชุมชนต่างๆ ในกทม.เพื่อขอความร่วมมือ  เตรียมแผนสำรองเพื่อการดูแลให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพ จัดเตรียมการอพยพผู้คน จะเอาเขาไปที่ไหน เตรียม service อะไรบ้าง ฯลฯ  แต่ผู้ว่าก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า

ผู้นำของเราสอบตกทั้งคู่เพราะไม่ให้ความสำคัญเรื่องการเตรียมการ แถมยังแก้ปัญหาก็ไม่เก่งอีก


เข้าถึง จริงใจ สู้ไม่ถอย ... Hero ตัวจริง
วันที่ชาวบ้านหมดแรง ยังมีทหารเป็นความหวังสุดท้าย
ทหาร นักแก้ปัญหา = ฮีโร่ตัวจริง

เมื่อรัฐสอบตกทั้งเรื่องเตรียมการและแก้ปัญหา ... ผลคือชาวบ้านเดือดร้อน นิคมอุตสาหกรรมเสียหาย ฯลฯ บทบาทพระเอกขี่ม้าขาวที่มาช่วยกู้สถานการณ์จึงตกเป็นของทหารหาญ  จิตอาสาของชาวบ้าน และสื่อมวลชนอย่างไม่ค้านสายตากรรมการ

ได้ใจไปเต็มๆ
อะไรๆ ก็ทหาร ที่พึ่งสุดท้ายของสังคม
Hero ตัวจริงทุกคนเลย
ทั้ง 3 กลุ่มคือนักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เยี่ยมยอด  และคงจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกยาวนานเพราะผู้บริหารไม่ทำงานแบบ proactive คือก่อนปัญหาจะเกิด ก็เตรียมพร้อมด้วยความเป็นมืออาชีพ และข้อมูลที่แม่นยำ  เราไม่คาดหวังให้นายกฯต้องรู้เรื่องน้ำ แต่เขาต้องใช้คนให้เป็น



(รูปเด็ดๆ หลายรูปได้จาก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=kaenjai-pa&month=24-10-2011&group=6&gblog=10)

ถือเป็นเรื่องที่เด็กเพลินฯ ต้องเรียนรู้เสริมทักษะการทำงาน
   

No comments:

Post a Comment