Labels

9.25.2019

สวรรค์ (หรือพ่อแม่) สาปให้หนูเป็นอัจฉริยะ? (ตอน 8-จบ)


แต่ถ้าพ่อแม่ยังอยากให้ลูกเป็นอัจฉริยะอยู่จะต้องทำอย่างไร
ก็ทำได้ แต่วิธีทำก็ต้องให้ “สมดุล” ระหว่าง
1.การพัฒนาองค์ประกอบของอัจฉริยภาพ กับ 2.การเติบโตของเด็ก ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ต่างไปจากการพัฒนาเด็กที่รักและคลั่งไคล้สิ่งนั้นให้มีความสามารถ
 อาทิเช่น ยุคนี้พ่อแม่เชื่อว่าการเรียนดนตรี เช่น เปียโน  จะสร้างเสริมให้ลูกหลานฉลาดขึ้นกว่าเดิม ลำดับต่อมาก็เชื่อว่าลูกมี gifted ทางดนตรี เพราะรักทั้งดนตรี หรือมีหูที่ดีเยี่ยม สามารถฟังเสียงและบอกว่าเป็นตัวโน้ตอะไร ฟังเพลงมาแล้วจำทำนองได้ก็มาไล่เสียงบนคีย์เปียโน แม่สรุปว่า  ลูกแกะเพลงได้ สมกับเป็นจีเนียส ฯลฯ  
แต่เหล่านี้รับรองได้ว่า ไม่เพียงพอที่จะทำให้ลูกเติบโตเป็นผู้มีอัจฉริยภาพทางดนตรี  เพราะว่า องค์ประกอบไม่ครบ  …!!
มาดู Amadeus Mozart คนที่ไม่มีใครปฏิเสธว่าเป็นอัจฉริยะ  แต่ลองนึกภาพของเด็กคนหนึ่งที่อาจจะมีแนวโน้มชอบดนตรี เพราะพ่อก็เป็นนักดนตรี เป็นครูสอนเปียโน และแต่งตำราสอนไวโอลิน  เด็กชาย Mozart ก็ต้องได้ยินเสียงดนตรีมาตั้งแต่เกิด พอพ่อจับให้เริ่มเล่นเปียโนเมื่อตอน 3 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังพัฒนากล้ามเนื้อ ประสาทสัมผัส การได้ยินเสียง สายตาที่ต้องอ่านโน้ตและเข้าใจ เมื่อเล่นได้ พ่อก็ปลื้มชื่นชม เป็นแรงเสริมที่ทำให้เขายอมที่จะถูกพ่อฝึกความอดทนเพื่อซ้อมอย่างหนัก
มีคนคำนวณไว้ว่า ถ้าเล่นเปียโนตั้งแต่ 3 ขวบ วันละ 3 ชั่วโมงจนถึงอายุ 6 ขวบ  เด็กชาย Mozart ได้เล่นเปียโนมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3,500 ชั่วโมง  ถ้ายอมให้ถูกฝึกฝนเคี่ยวกรำมาขนาดนี้ จะต้องแปลกใจทำไมหากเขาจะเก่งเรื่องเปียโนเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน  เพราะทักษะสำคัญสำหรับการเรียนดนตรีในช่วงแรกคือ การทำซ้ำ ทำตามให้เหมือน การอ่านโน้ตและการเล่นที่แม่นยำจนมั่นใจ แล้วระหว่างนี้ ถ้าเข้าใจดนตรี เข้าใจบทเพลง ก็เริ่มเกิดความรู้สึก เกิดอารมณ์ ใส่ความคิด ใส่สไตล์ของตัวเองเข้าไปในการเล่น   กล่าวกันว่า Mozart แต่งเพลงแรกเมื่อตอน 4 ขวบ  แต่นี้ก็อาจจะเล่ากันเพื่อความอลังการ เพราะเพลงนี้ก็ไม่ใช่เพลงใหม่ที่สุดยอดอะไร  เป็นการเอาเพลงเก่ามาเรียบเรียงใหม่ แต่มันคือบันไดขั้นแรกที่พัฒนาขึ้นจากการมีทักษะพื้นฐานทางดนตรี เพื่อวันข้างหน้าจะ “สร้างสรรค์” เพลงของตัวเองได้
พ่อแม่แอบชำเลืองดูลูกอัจฉริยะของตัวเองหน่อยมั้ย เปียโนก็ลงทุนไปแล้วเป็นแสน จ้างครูที่ว่าเจ๋งมาสอน  แต่ลูกเรามีความก้าวหน้ากับการอ่านโน้ต กับการฝึกเล่นทักษะที่ยากขึ้นๆ  ชอบฟังเพลง ฟังแล้ววิเคราะห์ได้ เล่นแล้วได้อารมณ์ใหม่ๆ หรือเอามาพัฒนาเป็นเพลงของตัวเอง เหล่านี้คือทักษะทางดนตรีที่ต่อยอดจากอัจฉริยภาพ และทำได้ด้วยการลงมือปฏิบัติและเรียนรู้เท่านั้น  โดยไม่ฝันว่าพรสวรรค์จะโตตามตัวลูกโดยที่ลูกไม่ต้องเรียนรู้ ฝึกฝนและพัฒนาต่อเนื่อง   
Image result for mozart family
ภาพครอบครัว Mozart  คุณพ่อ Leopold, Wolfgang และ พี่สาว Nannerl ที่มีฝีมือทางดนตรีไม่แพ้ Mozart แต่เพราะเป็นผู้หญิง พ่อก็เลยไม่ค่อยส่งเสริมให้เป็นนักแสดงดนตรี  
ถ้าคุณพ่อ Leopold Mozart เชื่อว่าลูก Wolfgangเป็นอัจฉริยะ แล้วรอให้พระเจ้าลงมาประทานความสามารถให้ทุกวัน โดยไม่ฝึกฝนลูกตัวเอง และวางกระบวนการเพื่อให้ Mozart ฝึกทักษะพื้นฐานที่นักดนตรีทุกคนต้องทำได้  Mozart จะได้เป็นอัจฉริยะนักดนตรีหรือไม่  (คิดดู วันละ 3 ชั่วโมง สำหรับเด็ก 3 ขวบ OMG!!! จนเด็กน้อยแทบไม่ได้เล่นกับเพื่อนแถวบ้าน ไม่ได้ใช้ชีวิตเป็นเด็ก  ได้เรียนรู้โลกจริง ๆ และไม่ได้ฝึกการจัดการชีวิต)
วิธีการเพิ่มศักยภาพของเด็กแต่ละคนพัฒนาไปถึงขั้นสูงสุดของ Leopold Mozart อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีกับชีวิตของลูกนัก เพราะลูกก็ขมขื่นแต่ก็ต้องพึ่งพาพ่อเพราะยืนด้วยตัวเองไม่ได้  หรือ Sofiah ที่ถูกพ่อเคี่ยวกรำจนเข้า Oxford ได้เมื่ออายุ 13 (พ่อก็ใช้วิธีเดียวกันกับลูกทุกคนจน “ประสบความสำเร็จ”) แต่ก็ขมขื่นกับวิธีการบังคับจนไร้อิสรภาพ  เมื่อได้อิสรภาพ เธอจึงเลือกจะไม่กลับไปหาพ่อ เลือกไปเป็นโสเภณี เป็นนักสังคมสงเคราะห์ และภายหลังก็ได้เลือกที่จะกลับไปเรียนหนังสืออีกครั้ง 
อัจฉริยภาพ หรือ พรสวรรค์ อาจจะเป็นพลังสำคัญสำหรับการ “jump start” เผาหัว ติดเครื่อง  แต่ถ้าเครื่องยนต์ไม่แน่น ไม่อึด  น้ำมันไม่พอ หรือหาปั๊มเติมน้ำมันไม่ได้ อัจฉริยภาพก็ไปต่อถึงจุดหมายปลายทางยาก  แต่คนที่รักจริงจัง ฝึกฝนเรียนรู้อย่างฉลาด ไม่หยุดหย่อน หาแรงบันดาลใจ ได้ความคิดสร้างสรรค์ อาจจะขาดเสน่ห์หรือความ “ว๊าว” ของอัจฉริยะไปบ้าง  แต่ก็พบว่า คนจำนวนมหาศาลสามารถจะยืนหยัดกับชีวิตได้อย่างมีความสุขและสำเร็จ
ขอข้อสรุปสำหรับพ่อแม่ เมื่อคิดว่าลูกเรามีแววอัจฉริยะ?
สรุปแบบตรงไปตรงมาก็คือ  พ่อแม่อย่าไปตกหลุมพรางของคำว่า เด็กจีเนียส เด็กอัจฉริยะ  จะดีที่สุดหากสามารถเลี้ยงลูกให้ใช้ความสามารถพิเศษพร้อมๆ กับการมีชีวิตจริงอย่างสมดุล  เรียนรู้ความพ่ายแพ้ผิดหวัง ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ ฝึกให้ตัวเองมีความแข็งแกร่ง เรียนรู้ที่จะสนุกกับชีวิต มุ่งมั่นกับสิ่งที่เขารักอย่างแท้จริง  มีพลังที่จะผลักดันความสามารถพิเศษของตัวเองออกมาเป็นงานสร้างสรรค์ ฝึกวินัยในตนเองและฝึกฝืนบ้าง
ที่สำคัญแต่อาจจะเจ็บปวดก็คือ การมองลูกอย่างเปิดใจ  เด็กรักดนตรี แต่ไม่ชอบซ้อม ไม่รักการซ้อม ไม่อดทนที่จะเรียนรู้พื้นฐานดนตรี  เด็กรักศิลปะแต่ไม่ขีดเขียน ไม่คว้าดินมาปั้น ไม่รู้จักอารมณ์ของตัวเอง  ไม่เรียบเรียงเรื่องราว  เด็กภาษาดี แต่ไม่อ่าน ไม่พูด ไม่เรียบเรียงความคิด ไม่วิเคราะห์ แล้วจะเป็นจีเนียสที่ฉายแววอย่างไร? หรือการไม่ชอบทำสิ่งที่เป็นพรสวรรค์นี้เป็นการส่งสัญญาณสื่อสารกับพ่อแม่ว่า หนูพยายามเป็นทุกอย่างที่พ่อแม่อยากให้เป็นแล้ว แต่หนูไม่ใช่!!!!
เราส่งเสริมให้พ่อแม่มีความเชื่อมั่นในลูกทุกคน  แต่ต้องอย่ายอมให้จินตนาการและความปรารถนาที่จะเห็นลูกเป็นเด็กอัจฉริยะกลายมาเป็นคำสาปจากสวรรค์ ที่ทำให้ชีวิตทั้งของลูกและของพ่อแม่ตกหลุมพราง
Happily, We Thrive!!!

แหล่งข้อมูล


สวรรค์ (หรือพ่อแม่) สาปให้หนูเป็นอัจฉริยะ? (ตอน 7)


ปัจจัยอะไร ที่จะทำให้เด็กอัจฉริยะ กลายเป็น ผู้ใหญ่อัจฉริยะ
ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ จะต้องเข้าใจว่า อัจฉริยภาพในวัยเด็กไม่ได้กำหนดความสำเร็จในชีวิตของลูก จะบอกว่าให้เลิกหลอกตัวเองก็จะแรงไป แต่อย่างน้อย เลิกกดดัน เลิกคาดหวัง และเลิกหย่อนยาน กลับมาเดินทางสายกลางเช่นเดียวกับการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตอย่างสมดุล  ฝึกให้ลูกสามารถเติบโตไปพร้อมกับอัจฉริยภาพเพื่อรับมือกับโลกที่เป็นจริง  การกดดัน บังคับ เคี่ยวกรำให้ลูกเป็นอัจฉริยะ ก็สร้างความทุกข์ให้กับลูกพอ ๆ กับการปกป้อง และตามใจลูกมากเกินไป จนลูกกลายเป็นเด็กติดสบาย ไม่อดทน ขาดความมุ่งมั่น ขาดพลังที่จะพัฒนาต่อยอดอัจฉริยภาพ  อย่าให้ลูกกลายเป็น perfectionist ที่แสนทุกข์ รับมือกับความล้มเหลวผิดหวังไม่เป็น  
เด็กจีเนียสชื่อ Joycelyn Lavin มีความสามารถทางดนตรีสูงมาก แต่ก็สนใจดาราศาสตร์ ตัดสินใจทิ้งดนตรี และสอบมาตรฐาน A-Level ได้คะแนนสูงสุด เข้าเรียนสาขาวิทยาศาสตร์ที่ University College of London แต่เรียนไม่จบเพราะสอบตกคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ (อ๊าว!! ไหนว่าสนใจดาราศาสตร์?!) เธอใช้ความสามารถที่มีมาเป็นครูคณิตศาสตร์อยู่ 20 ปี แล้วลาออก และจัดการชีวิตตัวเองไม่ได้จนกระทั่งตอนนี้บ้านของเธอกำลังจะถูกยึด 
Experience: Jocelyn Lavin
Joycelyn Lavin เด็กอัจฉริยะผู้ไม่เคยฝึก self-discipline
(theguardian.com/lifeandstyle/2008/dec/20/family-child-prodigy)
เธอบอกว่า เธอไม่รู้ว่าเธอต้องการจะทำอะไรนอกจากไปอยู่ในอวกาศ  วัยเด็กของเธอไม่ได้เตรียมเธอให้มีวินัยในตนเอง ผ่านประสบการณ์ของเด็กวัยเดียวกัน เธอจึงด้อยความสามารถในการปรับตัวเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยทั้งที่มีระดับสติปัญญาขนาดนั้น  เช่นเดียวกับ Andrew Halliburton ผู้มีปัญญาเลิศทางคณิตศาสตร์แต่เรียนไม่จบและลงเอยด้วยการเป็นพนักงานขายในร้านแมคโดนัล  
สิ่งที่ทั้งสองขาดคือ วินัยในตนเอง ความมุ่งมั่น ความอดทน การจดจ่อ ความมั่นใจในตนเอง การรับมือกับความผิดหวังและความกดดัน ซึ่งจะช่วยให้เขาไปถึงสิ่งที่พวกเขาคลั่งไคล้ได้
อีกเรื่องหนึ่งที่พ่อแม่ทำได้คือ เพิ่มโอกาสที่ลูกจะได้เรียนรู้ประสบการณ์อื่น ๆ นอกเหนือไปจากเรื่องที่เป็นอัจฉริยภาพ  ประสบการณ์นี้จะช่วยลูกได้มาก โดยเฉพาะวันที่ลูกอาจจะถึง “จุดอิ่มตัว” ในอัจฉริยภาพในวัยเด็ก ชีวิตก็จะไม่ตีบตันจนต้องตัดสินใจแบบไร้หนทาง  
ส่วนจะตัดสินใจเดินไปทางไหน ไม่มีคำตอบตายตัว  พ่อแม่บางคนมาพบว่า เอาเข้าจริงแล้ว ลูกเราที่นึกว่าเป็นจีเนียส ก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษอย่างที่เราเข้าใจ (หรืออยากให้เป็น?!) ก็รีบส่งเข้าโรงเรียน เพื่อกลับไปใช้ชีวิตแบบคนทั่วไป  โดยไม่ได้เตรียมตัวให้ลูกพร้อมทั้งเรื่องทักษะ ความคิด จิตใจ และสังคม ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติม 
เหมือน Marc Yu เด็กอัจฉริยะทางดนตรีตั้งแต่ 6 ขวบ ที่ต่อมาพ่อแม่ส่งเข้าโรงเรียน  เขาบอกว่าทักษะที่ใช้กับคีย์บอร์ดและการแสดงบนเวทีใช้ไม่ได้กับชีวิตจริง  การฝึกฝนเคี่ยวกรำตนเองเป็นทักษะที่ใช้ในการเรียนหนังสือหรือแสดงดนตรี แต่ใช้กับมนุษย์ไม่ได้  คำแนะนำจาก Yu ก็คือ เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ประสบการณ์หลากหลาย  ขอย้ำว่าการ “เรียนรู้” ต้องมีเป้าหมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง  ไม่ใช่แค่ทำสนุก ๆ ให้ผ่านไป (เหมือนพาลูกไปทำนาจนแม่ตัวดำ หน้าขึ้นฝ้า แต่กลับมาที่บ้าน ลูกไม่เคยรดน้ำต้นไม้เลย 55555)


ตอนต่อไป มารู้จักอัจฉริยะนักดนตรีตลอดกาล ... 

สวรรค์ (หรือพ่อแม่) สาปให้หนูเป็นอัจฉริยะ? (ตอน 6)



ฟังเสียงเด็กอัจฉริยะ ที่ไม่ได้ใช้ชีวิตแบบเด็กอัจฉริยะ

Julian Rachlin เป็นนักไวโอลินที่ได้รับเชิญให้เข้าเรียนที่สถาบันดนตรีแห่งเวียนนาเมื่ออายุ 9 ขวบ ขึ้นเวทีใหญ่ๆ มาตั้งแต่อายุ 11 และเป็นนักไวโอลินอาชีพตั้งแต่อายุ 13  วันนี้ อายุ 40 เป็นนักไวโอลินและเป็นวาทยากรมือโปร เป็นตัวอย่างหนึ่งของเด็กอัจฉริยะที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่อัจฉริยะ (ไปลองฟังผลงานดนตรีทั้งนักไวโอลิน และวาทยากรของ Rachlin จาก Youtube.com ได้)  เคล็ดลับของเขาคือ   
“เพื่อนและพ่อแม่ของผมไม่เคยทำกับผมราวกับว่าผมคือเด็กอัจฉริยะ  พวกเขาเห็นผมเป็นเด็กชายจูเลียนซึ่งรักการสร้างสรรค์ดนตรี  ผมจึงไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นอัจฉริยะ  Mozart และ Menuhin คืออัจฉริยะ แต่ผมเป็นเพียงเด็กคนหนึ่ง”  
Image result for julian rachlin
Julian Rachlin  เด็กชายผู้รักการสร้างสรรค์ดนตรี “ไม่เคยมีใครทำให้ผมรู้สึกว่าผมคือเด็กอัจฉริยะ” (https://www.visitljubljana.com/de/besucher/events/)
ก็เป็นคำตอบเดียวกับ Greg Smith และเด็กอัจริยะอีกหลายคนที่มีโอกาสใช้ชีวิตสนุกกับเพื่อนๆ ได้เป็นเด็กเหมือนกับเด็กอื่นๆ  ได้เรียนรู้ฝึกฝนที่จะใช้ชีวิตเป็นคนปกติ  ได้มีความคลั่งไคล้อื่นๆ นอกเหนือไปจากอัจฉริยภาพของตัวเอง 
เด็กอัจฉริยะคนหนึ่งถามแม่ว่า เจ๋งขนาดหนูเนี่ย ทำไมยังต้องมาล้างจาน  แม่ตอบว่า เพราะเธอต้องใช้จานกินข้าว 55555 โดนอย่างยิ่ง!!!
พ่อแม่สังเกตให้ดีๆ ว่าลูกรักที่จะทำอะไรด้วย  ไม่ใช่แค่ “เก่ง” อะไรอย่างเดียว   ยกตัวอย่าง  คนเล่นกล้อง Konica ต้องรู้จัก Frankencamera ที่พัฒนาโดย Ollie Baker เด็กอัจฉริยะที่คลั่งไคล้กล้องถ่ายรูป  ได้รับทุนสนับสนุนให้ได้พัฒนากล้องรุ่นนี้ เมื่ออายุ 18 ปี
Image result for ollie baker konica
เด็กหนุ่มอายุ 18 ผู้คลั่งไคล้กล้องถ่ายรูป จนได้เป็นผู้พัฒนากล้อง FrankenCamera อันโด่งดัง!!
(macfilos.com)
 เขามองว่า เป็นความโชคดีที่ความสามารถของเขา กับความคลั่งไคล้ไปด้วยกันได้  เขาจึงสามารถจะเป็นทั้งนายจ้าง ลูกค้า และแรงจูงใจให้กับการทำงานของเขาได้  อ่านเรื่องของกล้องและการพัฒนางานของ Ollie Baker ได้อย่างละเอียดได้ที่นี่เลย https://frankencamera.wordpress.com/
 
พลังจากความคลั่งไคล้ กัดไม่ปล่อยอย่างนี้ใช่ไหมที่ทำให้เด็กอัจฉริยะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่อัจฉริยะ และประสบความสำเร็จ
ตอนต่อไป เรามาดูกันว่า ปัจจัยอะไรทำให้เด็กอัจฉริยะ กลายเป็นผู้ใหญ่อัจฉริยะ
(บทความนี้ ลงใน page ศกร.นวัตกรรมเพื่อความสุข เมื่อเดือน ก.ย. 2019)


สวรรค์ (หรือพ่อแม่) สาปให้หนูเป็นอัจฉริยะ? (ตอน 5)


แล้วทำไม เด็กอัจฉริยะจึงไม่กลายเป็นผู้ใหญ่อัจฉริยะ?
คำตอบก็คือ กระบวนการที่ไม่สมดุลของการเติบโต และตัวตนของเด็กน้อยเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก  เพราะกระบวนการนั้นออกแบบมาโดยพ่อแม่  ซึ่งบ้านที่พลาดมักเป็นขั้วใดขั้วหนึ่ง ดังนี้
  พวกหนึ่ง พอเห็นแววลูกแว่บหนึ่ง ก็รีบเร่งหวดไม่ยั้งให้ลูกวิ่งไปถึงจุดที่เป็นความพิเศษอย่างที่พ่อแม่มีปัญญาจะคิดฝันเอาได้ จัดติวหนัก ซ้อมหนัก เสาะหาครูสุดยอดฝีมือมาเพื่อเคี่ยวเต็มที่จะได้ไม่เสียของ
  อีกพวกหนึ่ง ก็หลงเอาว่า แววอัจฉริยะของลูกนั้นเป็นสรณะ ลูกเกิดมาเก่งเองจึงรู้ว่า ตัวเองต้องการอะไร และควรทำอะไร การฝึกฝนใดๆ ซึ่งลูกไม่ปลื้มก็ไม่ต้องทำ เพราะเชื่อมั่นว่า อัจฉริยภาพของลูกจะต้องไม่ถูกขัดขวางด้วยการฝึกสิ่งที่ลูกไม่ต้องการ 
นี้คือสถานการณ์ของเด็กอัจฉริยะที่ยากจะกลายเป็นผู้ใหญ่อัจฉริยะ 
นักวิจัยเรื่องอัจฉริยภาพทางดนตรียืนยันว่า “ถ้าเราบอกว่าเด็กคนหนึ่งมีอัจฉริยภาพทางดนตรีโดยไม่มีใครสอน เราหมายถึงเด็กคนนั้นให้เวลาที่จะ “ต้องฝึกมากๆ”  “ต้องการที่จะฝึกอย่างมาก” และ “ชอบที่จะฝึกให้มากๆ”  
พูดง่าย ๆ ก็คือ การ “มีแวว” อาจจะเป็นข้อได้เปรียบตรงที่มีความสามารถในบางเรื่องนำหน้าคนอื่นในวัยเดียวกัน (“precocious”) แต่หากไม่พัฒนาขึ้นจากจุดนั้นต่อไปอีก ก็จะมีระดับความสามารถเท่าเทียมคนที่ไม่มีแวว แต่มีความรัก มีความมุ่งมั่น และจริงจัง (ที่ชอบเรียกรวมๆว่า passion) ที่จะฝึกฝนเรียนรู้  ซึ่งนี้ก็เป็นปัญหาของเด็กน้อยที่นึกว่าตัวเองเจ๋งด้วยมีทักษะทางดนตรีเท่ากับพี่ที่โตกว่าหลายปี  แต่กลับไม่มีความสุข เพราะไม่มีความพร้อมทั้งเรื่องอารมณ์ สังคม ร่างกาย สติปัญญา ประสบการณ์ชีวิตที่จะเข้าไปเรียนร่วมกับพี่ๆ เหล่านั้น  
ปัจจัยที่สอง คือ ทักษะของการเป็นเด็กอัจฉริยะ กับทักษะของผู้ใหญ่อัจฉริยะแตกต่างกัน  เด็กที่จัดว่าเป็นอัจฉริยะส่วนมากเพราะแสดงความเชี่ยวชาญในทักษะของผู้ใหญ่ หรือทักษะที่มีคนทำได้แล้ว ทั้งการวาดรูป คณิตศาสตร์ หมากรุก เทนนิส ดนตรี ฯลฯ 
แต่ผู้ใหญ่อัจฉริยะจะต้องมีคุณสมบัติอีกแบบหนึ่ง คือ อัจฉริยภาพเชิงสร้างสรรค์” หรือเป็น “creative genius” ด้วย  คนเหล่านี้จะต้องแสดงความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น การค้นพบบางสิ่งใหม่ สร้างสรรค์สิ่งที่ยังไม่มีใครทำได้มาก่อน หรือ ทำสิ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่สาม แรงจูงใจที่จะเป็น “ผู้ใหญ่อัจฉริยะ” มีไม่มากพอ  เด็กอัจฉริยะหลายคนบอกว่า เขาอิ่มตัวกับความสำเร็จที่ได้จากรางวัล จากคำชม จากการถูกสัมภาษณ์ออกสื่อ  ขณะเดียวกัน ตอนเป็นเด็กอัจฉริยะ คนอื่นจะไม่ได้มองอัจฉริยภาพเพียงอย่างเดียว แต่มองเห็นความเป็นเด็กด้วย จึงได้รับแต่คำชื่นชม การให้อภัย และได้โอกาส ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ตัวเขาเองหลงเชื่อว่า เขา “เจ๋ง” จริง 
แต่เมื่อโตขึ้น ต้องเผชิญกับโลกกว้างที่แท้จริง มีคนที่เก่งพอๆกัน หรือเก่งกว่าอีกมากมาย การเผชิญความจริงว่า ตัวเขาไม่ได้เป็นอัจฉริยะเพียงคนเดียวเป็นเรื่องยาก  โดยเฉพาะเมื่อเจอกับคำวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่มีความเป็นเด็กมาเป็นเกราะกำบังอีกต่อไปแล้ว  ส่วนพวกที่ไปเรียนมหาวิทยาลัยตั้งแต่เล็ก และปรับตัวไม่ได้ ก็มักจะเกิดอาการหวาดกลัวและกดดันจากความคาดหวังในอัจฉริยภาพของตัวเอง  แถมในความเป็นจริง เพื่อนร่วมชั้นเรียนซึ่งมีอายุมากกว่าที่เก่งพอๆกันหรือเก่งกว่า กลับมีประสบการณ์  มีสังคม มีชีวิตที่ปกติกว่า สิ่งเหล่านี้สลายความเชื่อมั่นในตัวเองของเด็กอัจฉริยะอย่างมาก
ปัจจัยที่สี่ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ยากจะยอมรับ คือ เด็กอัจฉริยะจำนวนไม่น้อยมีอาการบกพร่อง และโรคทางจิตเวชบางอย่าง เช่น สมาธิสั้น  ย้ำคิดย้ำทำ แอสเพอเกอร์ส  เก็บตัวอยู่กับจินตนาการ เป็นต้น  ถ้าพ่อแม่เห็นด้านบวกของอัจฉริยภาพอย่างเดียว จนมองข้ามอาการ “แปลก ๆ” หรือเข้าใจผิดว่า นี่เป็นปกติของอัจฉริยภาพไม่จำเป็นต้องจัดการหรือรักษา  พ่อแม่จึงไม่ได้ทำอะไรกับอาการเหล่านี้  ตอนอายุยังน้อยก็ไม่เท่าไหร่  แต่เมื่อโตขึ้น ความรุนแรงของอาการหรือโรคเหล่านี้มากขึ้นกลายเป็นอุปสรรคและบั่นทอนอัจฉริยภาพ
ฟังเสียงเด็กอัจฉริยะที่ไม่มีความสุขกันบ้างไหม?
Gabriel Carroll อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Stanford ที่เคยได้คะแนนสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนียในการสอบมาตรฐานสำหรับการเข้ามหาวิทยาลัยที่สหรัฐฯตั้งแต่อยู่ ม.1  ทำคะแนนคณิตศาสตร์ได้เต็ม 800 ได้เหรียญทองคณิตศาสตร์โอลิมปิค 2 ครั้ง และยังได้รางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย จบปริญญาจาก MIT และ Harvard จะเรียกว่าประสบความสำเร็จก็อาจจะใช่ แต่เขากลับไม่คิดว่า เป็นการเติบโตที่ดีสำหรับเขา
“ผมติดล๊อคอยู่กับสิ่งที่ผมทำได้ดี ก็คือ การแก้โจทย์คณิตศาสตร์ ไม่ได้สนใจจะเล่นกีฬา หรือรู้จักสิ่งที่เด็กในช่วงวัยเดียวกันทำ ผมไม่รู้วิธีการขอความช่วยเหลือ ไม่มีแฟนจนอายุ 20 ปี และไม่เคยเรียนรู้ที่จะล้มเหลวซึ่งนี้ก็ยังเป็นความอ่อนแอที่ผมต้องพยายามฝึกตัวเองจนถึงทุกวันนี้" 
ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กอัจฉริยะที่ไม่ได้ถูกเลี้ยงแบบอัจฉริยะด้วย  จะเป็นอย่างไร รออ่านตอนต่อไป
(บทความนี้ ลงใน page ของ ศกร.นวัตกรรมเพื่อความสุขเมื่อเดือน ก.ย. 2019) 


สวรรค์ (หรือพ่อแม่) สาปให้หนูเป็นอัจฉริยะ? (ตอน 4)

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ติดตามเด็กนักเรียนโรงเรียนประถม Hunter College  โรงเรียนนี้ตั้งขึ้นมาเป็นโรงเรียนแนวสาธิตของ Hunter College ประมาณคณะครุศาสตร์ ของ City University of New York (CUNY) เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน เพื่อจะสร้างเยาวชนที่จะเป็นมันสมองของประเทศสหรัฐฯ  รับเฉพาะเด็กที่มี IQ 155 ขึ้นไปเท่านั้น!!!

Related image

นักเรียน Hunter College กำลังเรียนวิชาเคมี ปี 1940  ภาพโดย Nina Leen จากนิตยสาร Life  (credit dailymail.co.uk)
30 ปีผ่านไปพบว่า  เด็กจากโรงเรียนนี้มีอาชีพที่ดี ปรับตัวได้  มีความสุข บางคนก็จบปริญญาหลายใบ ฟังดูดีมาก  แต่น่าผิดหวังที่การลงทุนกับเด็กฉลาดล้ำเหล่านี้จำนวนมาก แต่มีเพียงไม่กี่คนได้รางวัลอันทรงเกียรติ อย่างรางวัล โนเบล หรือ พูลิตเซอร์  
หรือว่า  “เด็กอัจฉริยะอาจไม่ต้องลงเอยที่การเป็นผู้ใหญ่อัจฉริยะ”

มีผู้ใหญ่ยอดอัจฉริยะ ที่ไม่ได้เป็นเด็กอัจฉริยะบ้างหรือไม่?  
ขอบอกว่า เยอะ!!!! จะให้ใส่ชื่อมาก็คงต้องกระดาษ 1 รีม ยกตัวอย่างคนดังจากหลายยุคหลายสมัย เช่น ลีโอนาโด ดาวินชี่ เจ้าพ่อ Coding ตลอดกาล, บาค ผู้นำทางดนตรีแห่งยุคโดยไม่รู้ตัว, เซอร์ไอแซค นิวตัน เจ้าของทฤษฎีแรงโน้มถ่วงที่เป็นพื้นฐานวิชาฟิสิกส์, โคเปอร์นิคุส ผู้ยืนยันว่า โลกนี้ไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล ยังมี นักวิทยาศาสตร์  นักสังคมศาสตร์  นักเขียน นักดนตรี ศิลปิน นักสำรวจ เกษตรกร  สถาปนิก  แพทย์ ฯลฯ อีกมากมายที่ในวัยเด็กจะไม่มีทางถูกยกให้เป็น “เด็กอัจฉริยะ”
มีงานวิจัยหนึ่งที่ยืนยันมุมมองนี้เช่นกัน โดยไปศึกษาคนที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน 200 คน แล้วย้อนกลับไปดูว่าตอนเด็ก ๆ เป็นอย่างไร  พบว่ามีเพียง 34 คนที่เคยได้ชื่อว่าเป็น “เด็กฉลาดกว่าวัย” (precocious) ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากข้อมูลนี้  เราก็เห็นตัวเลขว่า 83% ของคนที่ประสบความสำเร็จกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นเด็กอัจฉริยะ 
แต่ขณะเดียวกัน เด็กอัจฉริยะจำนวนมากกลับไปไม่ถึงฝัน เพราะอะไร?
ตอนต่อไป มาพบกับเด็กอัจฉริยะอีกหลายคน ว่าพวกเขาใช้ชีวิตเมื่อเป็นผู้ใหญ่อย่างไร?  
(บทความนี้ เสนอใน page ศกร.นวัตกรรมเพื่อความสุข เมื่อเดือน ก.ย.2019)

สวรรค์ (หรือพ่อแม่) สาปให้หนูเป็นอัจฉริยะ (ตอน 3)


มาดูเด็กอัจฉริยะอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เราอาจจะเรียกว่า เด็กอัจฉริยะผู้ต้องคำสาป?
  Sufiah Yusof ขึ้นหนังสือพิมพ์หน้า 1 ครั้งแรกเพราะเธอสอบเข้า Oxford ได้เมื่ออายุ 13  กลับมาขึ้นหน้า 1 อีกครั้งเมื่อพ่อแม่ของเธอไปแจ้งความว่า เธอถูกลักพาตัว ต่อมาตำรวจพบว่า เธอหนีออกจากบ้านไปรับจ้างเสิร์ฟอาหาร และขอไม่กลับไปอยู่กับครอบครัวอีก แต่เมื่ออายุ 23 เธอเลิกกับสามีที่แต่งงานกันได้ 13 เดือน ก็ขึ้นหน้า 1 อีกครั้งเพราะเธอหันมาเลือกอาชีพโสเภณี หาลูกค้าโดยลงโฆษณาออนไลน์ 
  Barbara Follett ที่เขียนหนังสือขายดีของปี 1927 ตอนอายุ 12  และเล่มที่ดังไม่แพ้กันในปีถัดมา  แต่อายุ 15 เธอถูกตำรวจจับข้อหาพยายามฆ่าแม่ของตัวเอง เพราะต้องการอิสรภาพ และเมื่อแต่งงานได้ไม่นาน เธอทะเลาะกับสามีแล้วเดินออกจากบ้านสู่อิสรภาพอีกครั้งอย่างไร้ร่องรอย
  Theodore Kaczynski อัจฉริยะหนุ่มน้อยได้รับเชิญเข้าเรียนที่ Harvard เมื่ออายุ 16 ปี และจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน พออายุ 25 ก็ได้เป็นอาจารย์ที่อายุน้อยที่สุดของ UC-Berkeley ต่อมาตัดสินใจใช้ชีวิตไร้เทคโนโลยีในป่า ก่อนถูกจับและตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเพราะเขาตอบโต้การเติบโตของเทคโนโลยีด้วยการเป็นมือระเบิดที่สังหาร 3 ชีวิต และมีผู้บาดเจ็บ 23 คน FBI เรียกเขาว่า Unabomber   
Related image
Kaczynski จากอัจฉริยะสู่มือระเบิด
(ภาพจาก pinterest.com)

  Chiang Ti Ming ได้รับทุนเข้าเรียนที่ California Institute of Technology (CalTech อันโด่งดัง) เมื่ออายุ 12 ระหว่างเรียนก็ได้รางวัลเรียนดี และจบปริญญาเอกสาขา Particle Physics ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคซึมเศร้าและหลีกหนีสังคม ต่อมาก็เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ

  Brandenn Bremmer อ่านหนังสือออกตั้งแต่อายุ 18 เดือน อายุ 3 ขวบเล่นเปียโนได้ อายุ 11 ปี มหาวิทยาลัยโคโลราโดรับเข้าเรียนการประพันธ์เพลง ออกอัลบั้มที่แต่งเอง และเข้าเรียนชีววิทยาปูพื้นฐานเพื่อจะไปเป็นวิสัญญีแพทย์ แต่จบชีวิตตัวเองด้วยกระสุนปืนเมื่ออายุ 15 ปีโดยไม่มีใครทราบเหตุผลที่แท้จริง
  เมื่ออายุ 14 ปี Aaron Swartz สร้างเครื่องมือที่นำไปสู่การพัฒนา RSS ด้วยความสามารถทางคอมพิวเตอร์โปรแกรมและอินเตอร์เนท  ใช้ความสามารถนี้แฮ็คข้อมูลในฐานข้อมูลสำคัญ จนถูกจับได้ เมื่อศาลตัดสินจำคุก 35 ปี ปรับอีก 1 ล้านเหรียญ เขาแขวนคอตายจบชีวิตตัวเองในวัย 26 ปี  Aaron Swartz กลายเป็นประเด็นต่อเนื่องด้วยความที่แรงจูงใจของเขามาจากความคิดว่า ไม่ยุติธรรมที่แหล่งข้อมูลความรู้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะกับคนที่มีเงินจึงจะเข้าถึงข้อมูลนี้ แทนที่จะเปิดกว้างเป็นองค์ความรู้ของโลก  ความคิดสุดโต่งของเขาไม่ได้ผิด เป็นเรื่องที่น่ายกย่องในมุมมองของคนส่วนมาก  แต่วิธีการที่เขาทำต่างหากที่เป็นปัญหา  จริงๆแล้ว ในสถานภาพของเขา ทั้งในฐานะที่ปรึกษาองค์กรสำคัญๆ ทั้งทางการศึกษา และนโยบาย ก็ยังมีหนทางที่ถูกกฎหมาย เพียงแต่จะต้องใช้เวลาในการทำงานกับผู้คนและระบบซึ่ง Aaron Swartz เลือกที่จะไม่เดินบนเส้นทางนั้น
Related image
อัจฉริยะที่จบชีวิตตัวเองหลังละเมิดกฎหมายด้วยการแฮ็คฐานข้อมูลวิจัย JSTOR  (covertress.blogspot.com/2013/07/)
  Robert Peace ได้รับฉายาว่า “ศาสตราจารย์” ตั้งแต่เรียนเด็กเนอร์สเซอรี่ มีผู้มอบทุนให้เรียนจนจบชั้นสูงสุด  เขาเข้าเรียนสาขาชีวเคมีที่มหาวิทยาลัยเยล ขณะเดียวกันก็แอบขายกัญชาผิดกฎหมาย ทำเงินได้ถึง 100,000 เหรียญสหรัฐ เมื่อเรียนจบแทนที่จะทำงานถูกกฎหมาย Peace ยังคงขายยาเสพติด ก่อนถูกยิงตายเมื่ออายุ 30 ปี
คนที่สนใจจะไป search หาเรื่องราวและภาพของเด็กอัจฉริยะเหล่านี้ได้ใน google  เราไม่ได้นำภาพมาลงให้อ่านเพราะอาจติดปัญหาลิขสิทธิ์นะคะ ... ติดตามคำถามต่อไป "เด็กอัจฉริยะจะการันตีว่าจะเป็นผู้ใหญ่อัจฉริยะหรือไม่"
(บทความนี้ลงใน page ของ ศกร.นวัตกรรมเพื่อความสุขเมื่อเดือนก.ย.2019)