Labels

9.25.2019

สวรรค์ (หรือพ่อแม่) สาปให้หนูเป็นอัจฉริยะ? (ตอน 5)


แล้วทำไม เด็กอัจฉริยะจึงไม่กลายเป็นผู้ใหญ่อัจฉริยะ?
คำตอบก็คือ กระบวนการที่ไม่สมดุลของการเติบโต และตัวตนของเด็กน้อยเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก  เพราะกระบวนการนั้นออกแบบมาโดยพ่อแม่  ซึ่งบ้านที่พลาดมักเป็นขั้วใดขั้วหนึ่ง ดังนี้
  พวกหนึ่ง พอเห็นแววลูกแว่บหนึ่ง ก็รีบเร่งหวดไม่ยั้งให้ลูกวิ่งไปถึงจุดที่เป็นความพิเศษอย่างที่พ่อแม่มีปัญญาจะคิดฝันเอาได้ จัดติวหนัก ซ้อมหนัก เสาะหาครูสุดยอดฝีมือมาเพื่อเคี่ยวเต็มที่จะได้ไม่เสียของ
  อีกพวกหนึ่ง ก็หลงเอาว่า แววอัจฉริยะของลูกนั้นเป็นสรณะ ลูกเกิดมาเก่งเองจึงรู้ว่า ตัวเองต้องการอะไร และควรทำอะไร การฝึกฝนใดๆ ซึ่งลูกไม่ปลื้มก็ไม่ต้องทำ เพราะเชื่อมั่นว่า อัจฉริยภาพของลูกจะต้องไม่ถูกขัดขวางด้วยการฝึกสิ่งที่ลูกไม่ต้องการ 
นี้คือสถานการณ์ของเด็กอัจฉริยะที่ยากจะกลายเป็นผู้ใหญ่อัจฉริยะ 
นักวิจัยเรื่องอัจฉริยภาพทางดนตรียืนยันว่า “ถ้าเราบอกว่าเด็กคนหนึ่งมีอัจฉริยภาพทางดนตรีโดยไม่มีใครสอน เราหมายถึงเด็กคนนั้นให้เวลาที่จะ “ต้องฝึกมากๆ”  “ต้องการที่จะฝึกอย่างมาก” และ “ชอบที่จะฝึกให้มากๆ”  
พูดง่าย ๆ ก็คือ การ “มีแวว” อาจจะเป็นข้อได้เปรียบตรงที่มีความสามารถในบางเรื่องนำหน้าคนอื่นในวัยเดียวกัน (“precocious”) แต่หากไม่พัฒนาขึ้นจากจุดนั้นต่อไปอีก ก็จะมีระดับความสามารถเท่าเทียมคนที่ไม่มีแวว แต่มีความรัก มีความมุ่งมั่น และจริงจัง (ที่ชอบเรียกรวมๆว่า passion) ที่จะฝึกฝนเรียนรู้  ซึ่งนี้ก็เป็นปัญหาของเด็กน้อยที่นึกว่าตัวเองเจ๋งด้วยมีทักษะทางดนตรีเท่ากับพี่ที่โตกว่าหลายปี  แต่กลับไม่มีความสุข เพราะไม่มีความพร้อมทั้งเรื่องอารมณ์ สังคม ร่างกาย สติปัญญา ประสบการณ์ชีวิตที่จะเข้าไปเรียนร่วมกับพี่ๆ เหล่านั้น  
ปัจจัยที่สอง คือ ทักษะของการเป็นเด็กอัจฉริยะ กับทักษะของผู้ใหญ่อัจฉริยะแตกต่างกัน  เด็กที่จัดว่าเป็นอัจฉริยะส่วนมากเพราะแสดงความเชี่ยวชาญในทักษะของผู้ใหญ่ หรือทักษะที่มีคนทำได้แล้ว ทั้งการวาดรูป คณิตศาสตร์ หมากรุก เทนนิส ดนตรี ฯลฯ 
แต่ผู้ใหญ่อัจฉริยะจะต้องมีคุณสมบัติอีกแบบหนึ่ง คือ อัจฉริยภาพเชิงสร้างสรรค์” หรือเป็น “creative genius” ด้วย  คนเหล่านี้จะต้องแสดงความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น การค้นพบบางสิ่งใหม่ สร้างสรรค์สิ่งที่ยังไม่มีใครทำได้มาก่อน หรือ ทำสิ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่สาม แรงจูงใจที่จะเป็น “ผู้ใหญ่อัจฉริยะ” มีไม่มากพอ  เด็กอัจฉริยะหลายคนบอกว่า เขาอิ่มตัวกับความสำเร็จที่ได้จากรางวัล จากคำชม จากการถูกสัมภาษณ์ออกสื่อ  ขณะเดียวกัน ตอนเป็นเด็กอัจฉริยะ คนอื่นจะไม่ได้มองอัจฉริยภาพเพียงอย่างเดียว แต่มองเห็นความเป็นเด็กด้วย จึงได้รับแต่คำชื่นชม การให้อภัย และได้โอกาส ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ตัวเขาเองหลงเชื่อว่า เขา “เจ๋ง” จริง 
แต่เมื่อโตขึ้น ต้องเผชิญกับโลกกว้างที่แท้จริง มีคนที่เก่งพอๆกัน หรือเก่งกว่าอีกมากมาย การเผชิญความจริงว่า ตัวเขาไม่ได้เป็นอัจฉริยะเพียงคนเดียวเป็นเรื่องยาก  โดยเฉพาะเมื่อเจอกับคำวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่มีความเป็นเด็กมาเป็นเกราะกำบังอีกต่อไปแล้ว  ส่วนพวกที่ไปเรียนมหาวิทยาลัยตั้งแต่เล็ก และปรับตัวไม่ได้ ก็มักจะเกิดอาการหวาดกลัวและกดดันจากความคาดหวังในอัจฉริยภาพของตัวเอง  แถมในความเป็นจริง เพื่อนร่วมชั้นเรียนซึ่งมีอายุมากกว่าที่เก่งพอๆกันหรือเก่งกว่า กลับมีประสบการณ์  มีสังคม มีชีวิตที่ปกติกว่า สิ่งเหล่านี้สลายความเชื่อมั่นในตัวเองของเด็กอัจฉริยะอย่างมาก
ปัจจัยที่สี่ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ยากจะยอมรับ คือ เด็กอัจฉริยะจำนวนไม่น้อยมีอาการบกพร่อง และโรคทางจิตเวชบางอย่าง เช่น สมาธิสั้น  ย้ำคิดย้ำทำ แอสเพอเกอร์ส  เก็บตัวอยู่กับจินตนาการ เป็นต้น  ถ้าพ่อแม่เห็นด้านบวกของอัจฉริยภาพอย่างเดียว จนมองข้ามอาการ “แปลก ๆ” หรือเข้าใจผิดว่า นี่เป็นปกติของอัจฉริยภาพไม่จำเป็นต้องจัดการหรือรักษา  พ่อแม่จึงไม่ได้ทำอะไรกับอาการเหล่านี้  ตอนอายุยังน้อยก็ไม่เท่าไหร่  แต่เมื่อโตขึ้น ความรุนแรงของอาการหรือโรคเหล่านี้มากขึ้นกลายเป็นอุปสรรคและบั่นทอนอัจฉริยภาพ
ฟังเสียงเด็กอัจฉริยะที่ไม่มีความสุขกันบ้างไหม?
Gabriel Carroll อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Stanford ที่เคยได้คะแนนสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนียในการสอบมาตรฐานสำหรับการเข้ามหาวิทยาลัยที่สหรัฐฯตั้งแต่อยู่ ม.1  ทำคะแนนคณิตศาสตร์ได้เต็ม 800 ได้เหรียญทองคณิตศาสตร์โอลิมปิค 2 ครั้ง และยังได้รางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย จบปริญญาจาก MIT และ Harvard จะเรียกว่าประสบความสำเร็จก็อาจจะใช่ แต่เขากลับไม่คิดว่า เป็นการเติบโตที่ดีสำหรับเขา
“ผมติดล๊อคอยู่กับสิ่งที่ผมทำได้ดี ก็คือ การแก้โจทย์คณิตศาสตร์ ไม่ได้สนใจจะเล่นกีฬา หรือรู้จักสิ่งที่เด็กในช่วงวัยเดียวกันทำ ผมไม่รู้วิธีการขอความช่วยเหลือ ไม่มีแฟนจนอายุ 20 ปี และไม่เคยเรียนรู้ที่จะล้มเหลวซึ่งนี้ก็ยังเป็นความอ่อนแอที่ผมต้องพยายามฝึกตัวเองจนถึงทุกวันนี้" 
ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กอัจฉริยะที่ไม่ได้ถูกเลี้ยงแบบอัจฉริยะด้วย  จะเป็นอย่างไร รออ่านตอนต่อไป
(บทความนี้ ลงใน page ของ ศกร.นวัตกรรมเพื่อความสุขเมื่อเดือน ก.ย. 2019) 


No comments:

Post a Comment