Labels

11.30.2011

ใบกิจกรรม: เสริมสร้างสมรรถนะการใช้ภาษาไทย (2)


ใบกิจกรรมเสริมสร้างสมรรถนะการใช้ภาษาไทย
วิชา ภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้น ๗ ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๔๔
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
 คำสั่ง : ปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์
    ๑.       ให้นักเรียนอ่านใบความรู้

    ๒.      ให้นักเรียนใช้ความรู้ความเข้าใจจากการอ่านใบความรู้ที่ ๑ และ ใบความรู้ที่ ๒ พิจารณา วิดีโอคลิปและบทความต่อไปนี้ 
    ๑) วิดีโอคลิปเรื่อง “การแถลงการณ์ร่วมระหว่าง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ในระหว่างการมาเยือนประเทศไทย ๑๖-๑๗ พฤศจิยายน พ.ศ. ๒๕๕๔” 







    ๒) บทความเรื่อง น่าอับอายแทนประเทศไทย???

    ๓.      ให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ลงในแบบฟอร์มที่กำหนด 

๓.๑ นักเรียนคิดว่าการอ่านและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีความสำคัญจำเป็นอย่างไรในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน จงอธิบาย ให้เหตุผลประกอบและยกตัวอย่างจากข่าวสารหรือเหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในความสนใจ

๓.๒ นักเรียนคิดว่าการอ่านและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตของนักเรียนและคนรอบข้างได้อย่างไร จงอธิบาย ให้เหตุผลประกอบและยกตัวอย่างจากข่าวสารหรือเหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในความสนใจ

๓.๓ จากวิดีโอคลิปและบทความในข้อ ๒ ให้นักเรียนใช้หลักการอ่านและคิดอย่างมีวิจารณญาณที่ได้จากใบความรู้ ทำกิจกรรมต่อไปนี้
            ๓.๓.๑ เขียนข้อความวิเคราะห์ วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความและวิดีโอคลิป
            ๓.๓.๒ เขียนจดหมายส่วนตัวถึงเพื่อนสนิท บอกเล่าถึงใจความสำคัญจากบทความและวิดีโอคลิป โดยระบุเหตุและผล และข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็น พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นถึงที่นักเรียนมีต่อเรื่องดังกล่าว

๔. ให้นักเรียนร่างคำตอบในกระดาษ แล้วพิมพ์คำตอบลงในแบบฟอร์มที่กำหนดด้วยสำนวนภาษาเขียนที่สละสลวย ใช้ถ้อยคำได้ถูกต้องตามระดับภาษา แล้วกด “ส่ง” ภายในวันจันทร์ ที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๔ ทั้งนี้ให้เก็บกระดาษร่างคำตอบเพื่อส่งครูในวันเปิดภาคเรียน


หากมีปัญหากับการชมวิดีโอคลิปจาก link นี้ ให้กดที่นี่เพื่อเข้าไปชมในเวบ youtube

การเขียนจดหมายส่วนตัว


ใบความรู้ที่ ๓ การเขียนจดหมายส่วนตัว

การเขียนจดหมายส่วนตัว
            การเขียนจดหมายเป็นการสื่อสารโดยตรงระหว่างบุคคลหรือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ช่วยทำให้ระยะทางไกลเป็นใกล้ เพราะไม่ว่าบุคคลหรือหน่วยงานจะห่างไกลกันแค่ไหน ก็สามารถใช้จดหมายส่งข่าวคราวและแจ้งความประสงค์ได้ตามความต้องการ การส่งสารหรือข้อความในจดหมายต้องเขียนให้แจ่มแจ้งชัดเจน เพื่อจะได้เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่าย
องค์ประกอบและรูปแบบของจดหมาย
๑. ที่อยู่ของผู้เขียน เริ่มกึ่งกลางหน้าระหว่างเส้นคั่นหน้ากับริมของขอบกระดาษ
๒. วัน เดือน ปี ที่เขียนจดหมาย ให้เยื้องมาทางซ้ายของตำแหน่งที่เขียนที่อยู่เล็กน้อย
๓. คำขึ้นต้น ห่างจากขอบกระดาษด้านซ้าย ๑ นิ้ว
๔. เนื้อหา ขึ้นอยู่กับย่อหน้าตามปกติ อาจจะอยู่ห่างจากขอบกระดาษด้านซ้าย ๒ นิ้ว
๕. คำลงท้ายอยู่แนวเดียวกับที่อยู่ของผู้เขียน
๖. ชื่อผู้เขียน อยู่ใต้คำลงท้าย ล้ำเข้าไปเล็กน้อย

หลักการทั่วไปในการเขียนจดหมาย
๑. หลักการทั่วไปในการเขียนจดหมาย การเขียนจดหมายควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
๑.๑ การใช้ถ้อยคำ จดหมายที่ต้องใช้ถ้อยคำในการเขียนให้ถูกต้องเหมาะสมกับปร ะเภทของจดหมายและผู้รับจดหมายด้วย หลักการใช้ถ้อยคำสำหรับการเขียนจดหมาย มีดังนี้
๑.๑.๑ ใช้คำขึ้นต้นและคำลงท้ายจดหมายส่วนตัวให้เหมาะสมและถูกต้องตามแบบแผน
๑) การใช้คำขึ้นต้นและคำลงท้ายจดหมายส่วนตัว การเขียนจดหมาย ส่วนตัวไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้คำขึ้นต้นและคำลงท้ายที่ตายตัว เพียงแต่เลือกใช้ให้เหมาะสมเท่านั้น คำขึ้นต้นและลงท้ายสำหรับบุคคลทั่วไป มีแนวทางสำหรับเป็นตัวอย่างให้เลือกใช้ดังนี้
(ตัวอย่าง รูปแบบคำขึ้นต้นและคำลงท้ายจดหมายส่วนตัว http://www.enfe.go.th/enfe_2548/thai/thai02/thai21030.html)
๒) คำขึ้นต้นและคำลงท้ายหนังสือราชการ การใช้คำขึ้นต้นและคำลงท้ายหนังสือราชการ ต้องเป็นไปตามระเบียบงานสารบรรณของทางราชการ ในที่นี้จะนำเสนอ ดังนี้
(ตัวอย่าง รูปแบบคำขึ้นต้นและคำลงท้ายจดหมายราชการ 
http://www.enfe.go.th/enfe_2548/thai/thai02/thai21030.html)
๑.๑.๒ ใช้ภาษาเขียนให้ถูกกับระดับของจดหมาย โดยทั่วไปแล้วถ้าเขียนจดหมายส่วนตัวถึงบุคคลที่สนิทสนมกัน ก็จะใช้คำระดับที่ไม่เป็นทางการ แต่ถ้าเขียนจดหมาย ธุรกิจต่าง ๆ ก็ใช้คำระดับที่เป็นทางการ
(ตารางเปรียบเทียบภาษาพูดและภาษาเขียน 
http://www.enfe.go.th/enfe_2548/thai/thai02/thai21030.html)

๑.๑.๓ เขียนโดยใช้ถ้อยคำตรงไปตรงมา เพื่อให้ผู้รับจดหมายได้ทราบเรื่อง อย่างรวดเร็วและเข้าใจได้ทันทีตรงตามที่ผู้เขียนต้องการ หากจะต้องปฏิบัติการตาม ความในจดหมายนั้นก็ปฏิบัติได้โดยถูกต้องครบถ้วน
๑.๑.๔ เขียนเชิงสร้างสรรค์ คือ เขียนโดยเรียบเรียงถ้อยคำให้ผู้อ่านเกิดความ
รู้สึกแช่มชื่น ชวนอ่าน แสดงน้ำใจที่ดีต่อผู้ได้รับจดหมาย

๑.๒ มารยาทในการเขียนจดหมาย
๑.๒.๑ เลือกกระดาษ ซอง ที่สะอาดเรียบร้อย หากเป็นไปได้ควรใช้กระดาษที่ทำขึ้นเพื่อการเขียนจดหมายโดยตรง แต่ถ้าหาไม่ได้ก็ควรใช้กระดาษที่มีสีสุภาพ กระดาษที่ใช้เขียนควรเป็นกระดาษเต็มแผ่น ไม่ฉีกขาด ไม่ยู่ยี่ยับเยิน ไม่สกปรก ซองจดหมายที่ดีที่สุดคือซองที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้น เพราะมีขนาดและคุณภาพได้มาตรฐาน ซองประเภทนี้มีจำหน่ายตามที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขทุกแห่ง ถ้าหาซองจดหมายของการสื่อแห่งประเทศไม่ได้ ก็อาจเลือกซื้อจากซองที่มีเอกชนทำขึ้นจำหน่าย ซึ่งถ้าเป็นในกรณีหลังนี้ ควรเลือกซองที่มีสีสุภาพ ไม่ควรมีลวดลาย ไม่ควรใช้ซองที่มีตราครุฑส่งจดหมายที่มิใช่หนังสือราชการ ไม่ควรใช้ซองที่มีขอบซองเป็นลายขาวแดงน้ำเงินสลับกัน ซึ่งเป็นซองสำหรับส่งจดหมาย ไปรษณีย์อากาศไปยังต่างประเทศ ในการส่งจดหมายในประเทศ
๑.๒.๑ เขียนหนังสือให้ชัดเจน อ่านง่าย การเขียนตัวอักษรค่อนข้างโตและเว้นช่องไฟค่อนข้างห่าง จะช่วยให้จดหมายนั้นอ่านง่าย ไม่ควรเขียนด้วยดินสอดำหรือหมึกสีแดง เพราะถือกันว่าไม่สุภาพ แม้หมึกหรือดินสอสีต่างๆ ก็ไม่ควรเขียนจดหมาย สีที่เหมาะสมคือสีน้ำเงินและสีดำ ไม่ควรเขียนให้มีตัวผิด ตัวตก ต้องแก้ต้องเติม มีรอยขูดลบขีดฆ่า หรือมีเส้นโยง ข้อความรุงรัง ทำให้ดูสกปรกไม่งามตา
๑.๒.๓ จะต้องศึกษาให้ถูกต้องถ่องแท้ก่อนว่า ผู้ที่เราจะเขียนจดหมายไปถึงนั้นเป็นใคร มีตำแหน่งหน้าที่อะไร การเขียนข้อความในจดหมายก็ดี การจ่าหน้าซองก็ดี จะต้องระบุตำแหน่งหน้าที่ ชั้นยศของผู้นั้นให้ถูกต้องและต้องสะกดชื่อ นามสกุล ยศ ตำแหน่ง ของผู้นั้นให้ถูกต้องด้วย
๑.๒.๔ เมื่อเขียนจดหมายเสร็จแล้ว ต้องพับให้เรียบร้อยแล้วบรรจุซอง จ่าหน้าซองให้ถูกต้องครบถ้วน ปิดดวงตราไปรษณียากรให้ครบถ้วนตามราคาและถูกตำแหน่ง ก่อนที่จะนำไปส่ง
๑.๒.๕ เขียนจ่าหน้าซองจดหมาย
๑) เขียนชื่อ นามสกุลของผู้รับให้ถูกต้อง ชัดเจน อ่านง่าย ถ้าผู้รับเป็นแพทย์ เป็นอาจารย์ หรือมียศตำรวจ ทหาร หรือมีคำนำหน้านามแสดงเกียรติยศหรือฐานันดรศักดิ์ ก็ใช้ถ้อยคำพิเศษเหล่านั้นนำหน้าชื่อ คำนำหน้าชื่อควรเขียนเต็ม ไม่ควรใช้คำย่อ ถ้าทราบตำแหน่งก็ระบุตำแหน่งลงไปด้วย ในกรณีที่ไม่ทราบรายละเอียดดังกล่าว ควรใช้คำว่า คุณ นำหน้าชื่อผู้รับในการจ่าหน้าซองจดหมายนั้น
๒) ระบุสถานที่ของผู้รับให้ถูกต้อง ชัดเจนและมีรายละเอียดพอที่บุรุษไปรษณีย์จะนำจดหมายไปส่งได้ไม่ผิดพลาด ระบุเลขที่บ้าน ห้างร้านหรือสำนักงาน ซอย ตรอก ถนน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ (ในกรณีต่างจังหวัด) หรือแขวง เขต (ในกรณีกรุงเทพมหานคร) ที่สำคัญคือจะต้องระบุรหัสไปรษณีย์ถูกต้องทุกครั้ง จดหมายจะถึงผู้รับเร็วขึ้น
๓) การจ่าหน้าซอง การสื่อสารแห่งประเทศไทย แนะนำให้เขียนนาม และที่อยู่ พร้อมด้วยรหัสไปรษณีย์ของผู้ส่งไว้ที่มุมบนด้านซ้ายมือของซองและเขียนชื่อผู้รับ
พร้อมที่อยู่และรหัสไปรษณีย์ไว้ตรงกลาง
(ตัวอย่าง การเขียนจ่าหน้าซองจดหมาย  
http://www.enfe.go.th/enfe_2548/thai/thai02/thai21030.html)


๒. ประเภทของจดหมาย จดหมายแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ จดหมายส่วนตัว จดหมายกิจธุระ จดหมายธุรกิจ และจดหมายราชการหรือหนังสือราชการ  แต่เราจะเรียนรู้จดหมายส่วนตัวกันก่อน เพื่อให้มีแนวทางในการทำใบงานนี้


จดหมายส่วนตัว คือ จดหมายที่บุคคลซึ่งรู้จักคุ้นเคยกันติดต่อกันด้วยวัตถุประสงค์ที่เป็นการส่วนตัว เช่น เพื่อส่งข่าวคราว ถามทุกข์สุข เล่าเรื่องราว ฯลฯ เป็นการติดต่ออย่างไม่เป็นทางการ เช่น จดหมายเล่าเรื่องราวทุกข์สุข จดหมายแสดงความรู้สึกยินดี เสียใจขอบคุณหรือขอโทษในกรณีต่าง ๆ เป็นต้น 
การเขียนจดหมายส่วนตัวแม้จะยินยอมให้ใช้ถ้อยคำที่แสดงความสนิทสนมเป็นกันเองได้ แต่ก็ควรระมัดระวังอย่าให้ผู้อ่านเข้าใจผิด และควรแสดงความสำรวมมากกว่าการพูดกันโดยปกติ จดหมายส่วนตัวที่มีเนื้อหาเป็นการขอบคุณ หรือแสดงความยินดีอาจเขียนลงในบัตร ที่ออกแบบไว้อย่างสวยงาม แทนการเขียนในกระดาษก็ได้
การเขียนจดหมายส่วนตัว นิยมให้เขียนด้วยลายมือที่อ่านง่าย แสดงความตั้งใจเขียน ไม่นิยมใช้การพิมพ์ดีดจดหมายหรือจ่าหน้าซองจดหมายส่วนตัว
(ตัวอย่าง การเขียนจดหมายส่วนตัว  
http://www.enfe.go.th/enfe_2548/thai/thai02/thai21030.html)

น่าอับอายแทนประเทศไทย???

น่าอับอายแทนประเทศไทย???
โดย ณัฏฐ์ หงษ์ดิลกกุล นักศึกษาปริญญาเอก
คณะเศรษฐศาสตร์, Simon Fraser University

เหมือนเช้าทุกๆ วัน เมื่อผมตื่นขึ้นมาเมื่อวานสิ่งแรกๆ ที่ผมจะทำก็คือเปิดเฟซบุคเพื่อดูความเคลื่อนไหวและข่าวสารต่างๆ ตลอดวันในเมืองไทย และประเด็นร้อน ที่เพื่อนบนเฟซบุคของผมพร้อมใจกันแชร์ ก็คือคลิปการแถลงข่าวร่วมระหว่างนายกฯ และ Hillary Clinton จาก youtube พร้อมกับคำโปรยต่างๆ นานา จับความได้ว่า "นายกฯ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่อง น่าอับอายแทนประเทศไทย ฯลฯ"
เมื่อฟังคำวิจารณ์เหล่านี้ผมก็เกิด "คัน" ขึ้นมา นึกสนุกอยากทดสอบว่าถ้าให้คนต่างชาติฟังเขาจะฟังรู้เรื่องกันกันรึเปล่า จึงทดสอบโดยการแชร์คลิปการแถลงข่าวร่วมนั้น และตั้งคำโปรยเพื่อเชิญเพื่อนซึ่งไม่ใช่คนไทยให้มาดูคลิป แล้วตอบว่าเข้าใจที่นายกฯ แถลงรึไม่
ผมทิ้งแชร์เอาไว้หนึ่งวัน มีเพื่อนมาตอบทั้งหมด 6 คน เกือบทั้งหมดใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก และมิได้มีเพื่อนเป็นคนไทยนอกจากผมเท่านั้น (นั้นหมายความว่าไม่ได้คุ้นเคยกับสำเนียงแบบไทยๆ)   ทุกคนตอบเป็นทิศทางเดียวกันว่า "เข้าใจแถลงการณ์ที่นายกฯ พูดได้เป็นอย่างดี มีปัญหาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น" เช่น บางคนตอบว่าเข้าใจ 95% บางคนตอบว่าไม่เข้าใจเฉพาะช่วงต้นๆ ของสุนทรพจน์ แต่โดยรวมเข้าใจได้ดี

จากผลการทดสอบนี้ รวมกับข้อสังเกตของผมเอง ผมขอสรุปดังนี้ครับ
1) เป็นความจริงที่ว่าอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์พูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ ซึ่งก็ควรเป็นเช่นนั้นเพราะอดีตนายกฯ ใช้ชีวิตในต่างประเทศเป็นระยะเวลานานกว่า (แต่แน่นอนว่าแม้แต่อดีตนายกฯ ก็ยังมีสำเนียงไทย เมื่อพูดภาษาอังกฤษเช่นกัน)
2) แต่จากผลการทดสอบก็ยืนยันว่าคนต่างประเทศสามารถเข้าใจสุนทรพจน์ของนายกฯ ได้ ฉะนั้นภาษาอังกฤษของนายกฯ ถือว่าไม่มีปัญหาครับ มาตรฐานการพูดภาษาอังกฤษในปัจจุบันนั้นถือ จุดประสงค์สำคัญคือการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ ส่วนการพูดติดสำเนียง (accent) นั้นมิได้ถือเป็นปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นธรรมชาติที่เมื่อภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาสากลมากกว่าภาษาประจำชาติ การพูดติดสำเนียงจึงถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งท่ามกลางกระแสค่านิยมการไม่เลือกปฏิบัติ (nondiscrimination) ด้วยแล้ว มาตรฐานในโลกตะวันตก (อย่างน้อยก็เป็นมารยาทในสังคม) คือ การพูดติดสำเนียงไม่เป็นปัญหา แต่การดูถูกคนที่พูดติดสำเนียงนั่นแหละเป็นปัญหา
3) ย้อนกลับมาดูวิถีปฏิบัติของประเทศไทยเราเองบ้างก็จะเข้าใจได้ทันทีว่าทำไมหลายๆ คนถึง "อายแทนประเทศไทย" กับกรณีการพูดภาษาอังกฤษสำเนียงไทยของนายกฯ คนไทยเรายังยึดค่านิยมว่า "สำเนียงกลางเท่านั้นที่ถูกต้อง" อย่างแข็งขัน เราเห็นตลกล้อเลียนภาษาไทยสำเนียงอื่นบ่อยครั้ง และที่แน่ๆ เราจะไม่มีทางได้เห็นพิธีกร ผู้ประกาศข่าว หรือแม้แต่นักแสดงพูดด้วยสำเนียงอื่นนอกจากสำเนียงมาตรฐานเลย (ยกเว้นมุ่งให้เกิดความตลก) น่าสังเกตว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าคนกรุงเทพฯ เอาวิธีวัด "ความถูกต้องทางภาษา" เช่นนี้ไปขยายผลกับ "ความถูกต้อง" ในกรณีอื่นๆ ด้วย
4) ถ้าจะเอาประเด็นเรื่องสำเนียงการพูดไปตัดสินคุณสมบัตินายกฯ ยิ่งไม่สมเหตุสมผลมากขึ้นไปอีกครับ ถ้าใช้ตรรกะเดียวกันแล้ว นายกหู จิ่น เทา ของจีนสอบตกการเป็นนายกฯ ตั้งแต่อยู่ที่มุ้งเลยครับ เพราะท่านมิได้พูดภาษาอังกฤษแม้แต่คำเดียวในพิธีการที่ต้องเกี่ยวข้องกับต่างชาติ ท่านจะใช้ล่ามตลอด แต่นายกฯ หู ก็ยังเป็นที่ยอมรับของคนจีนจำนวนมาก แน่นอนว่าการพูดภาษาอังกฤษได้แบบไม่ติดสำเนียงเลยย่อมถือเป็น "โบนัส" แต่จะถือเป็นคุณสมบัติจำเป็นของนายกฯ ไม่ได้ครับ
5) สุดท้ายแล้ว จากมุมมองที่คนต่างประเทศ เขาไม่ได้เห็นว่าสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์พูดไปในการแถลงการณ์ร่วมนั้นเป็นสิ่งที่น่าอับอายของประเทศไทยเลย "ความน่าอับอาย" นั้นเป็นสิ่งที่คนไทย "คิดไปเอง" โดยการเอาค่านิยมของตัวเองเป็นตัวตั้งครับ


At Vancouver, Canada, Nov 18, 2011, 5:42 pm (GMT -8:00)

11.29.2011

ใบงาน อ่านแบบมีวิจารณญาณ


ใบกิจกรรมเสริมสร้างสมรรถนะการใช้ภาษาไทย
วิชา ภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้น ๙ ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๔๔
----------------------------------------------------------------------------------------------------------

    คำสั่ง : ปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ 
    ๑.      ให้นักเรียนอ่านใบความรู้เรื่อง
    ๒.      ให้นักเรียนใช้ความรู้ความเข้าใจจากการอ่านใบความรู้ที่ ๑  และ ใบความรู้ที่ ๒ พิจารณา วิดีโอคลิปและบทความต่อไปนี้

    ๑) วิดีโอคลิปเรื่อง “การแถลงการณ์ร่วมระหว่าง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ในระหว่างการมาเยือนประเทศไทย ๑๖-๑๗ พฤศจิยายน พ.ศ. ๒๕๕๔” http://www.youtube.com/watch?v=2Je_8eB8SpU  และ 

   ๒) บทความเรื่อง น่าอับอายแทนประเทศไทย???

   ๓.      ให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ลงในแบบฟอร์มที่กำหนด
๓.๑ นักเรียนคิดว่าการอ่านและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีความสำคัญจำเป็นอย่างไรในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน จงอธิบาย ให้เหตุผลประกอบและยกตัวอย่างจากข่าวสารหรือเหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในความสนใจ

๓.๒ นักเรียนคิดว่าการอ่านและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตของนักเรียนและคนรอบข้างได้อย่างไร จงอธิบาย ให้เหตุผลประกอบและยกตัวอย่างจากข่าวสารหรือเหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในความสนใจ

๓.๓ จากวิดีโอคลิปและบทความในข้อ ๒ ให้นักเรียนใช้หลักการอ่านและคิดอย่างมีวิจารณญาณที่ได้จากใบความรู้ ทำกิจกรรมต่อไปนี้
            ๓.๓.๑ เขียนข้อความวิเคราะห์ วิจารณ์และประเมินบทความที่อ่านโดยใช้กลวิธีการเปรียบเทียบ เพื่อให้ผู้อ่านข้อความของนักเรียนเข้าใจได้ดีขึ้น
            ๓.๓.๒ เขียนประเมินความถูกต้องของข้อมูลที่ใช้สนับสนุนในเรื่องบทความที่อ่าน
            ๓.๓.๓ เขียนวิจารณ์ความสมเหตุสมผล การลำดับความ และความเป็นไปได้ของบทความที่อ่าน
            ๓.๓.๔ เขียนตีความ (ใบความรู้ที่ ๓) และประเมิณคุณค่าแนวคิดที่ได้จากบทความและวิดีโอคลิป เปรียบเทียบกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในชีวิตของตนเอง แล้วเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

๔. ให้นักเรียนร่างคำตอบในกระดาษ แล้วพิมพ์คำตอบลงในแบบฟอร์มที่กำหนดด้วยสำนวนภาษาเขียนที่สละสลวย ใช้ถ้อยคำได้ถูกต้องตามระดับภาษา แล้วกด “ส่ง” ภายในวันจันทร์็ที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๔ ทั้งนี้ให้เก็บกระดาษร่างคำตอบเพื่อส่งครูในวันเปิดภาคเรียน

การอ่านตีความ


ใบความรู้ที่ ๓ เรื่องการอ่านตีความ

การอ่านตีความ

ในการอ่านนั้น บางครั้งสำนวนข้อความเนื้อเรื่องของสิ่งที่อ่านไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษร แต่ผู้อ่านต้องอาศัยการตีความ จึงจะเข้าใจความหมายของเรื่องที่อ่านได้ตรงเรื่องกับที่ผู้เขียนเขียน ดังนั้น การตีความจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจความหมาย ของเรื่องให้ถูกต้อง หนังสือที่เราอ่านนั้นมีหลายประเภท ผู้อ่านต้องรู้จักลักษณะของเรื่องที่อ่าน แล้วอ่านให้ถูกต้องและตีความตามลักษณะเนื้อหาของเรื่องนั้นๆ

ความหมายของการตีความ
การตีความเป็นความเข้าใจความหมายของคำ สำนวน ข้อความ หรือเนื้อเรื่อง ซึ่งไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษร การอ่านตีความนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้อ่านที่ตรงกันกับประสบการณ์ที่ผู้เขียนสื่อมาในสาร ถ้าผู้อ่านกับผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงกัน ผู้อ่านก็จะตีความได้ถูกต้องตรงกับที่ผู้ส่งสารสื่อมา แต่ถ้าไม่มีประสบการณ์ตรงกัน ผู้เขียนมีประสบการณ์อย่างหนึ่ง ส่วนผู้อ่านมีประสบการณ์อีกอย่างหนึ่ง ก็จะตีความไปตามประสบการณ์ของตน ความหมายทีได้ก็จะไม่ตรงกับความหมายที่ผู้เขียนต้องการส่งมา

สารที่เราอ่านนั้นแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ ประเภทร้อยแก้ว และประเภทร้อยกรอง

การตีความสารประเภทร้อยแก้ว

๑. บทความ มีหลายประเภทแยกไปตามลักษณะเนื้อหา เช่น บทความแสดง ความคิดเห็น บทความทางวิชาการ ประเภทวิจารณ์ ประเภทชีวประวัติ สารคดี การอ่านบทความก็เหมือนการอ่านหนังสือโดยทั่วไป คือ ต้องจับใจความสำคัญให้ได้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร เกิดผลอย่างไรและรู้จักแยกข้อความที่เป็นข้อเท็จจริง พิจารณาให้ได้ว่า ข้อความนั้นมีเหตุผลถูกต้องสมควรเชื่อถือได้เพียงใด
ตัวอย่าง บทความแสดงความคิดเห็น
เป็นที่ยอมรับกันอยู่ว่า ในปัจจุบัน ผู้พูดและผู้เขียนภาษาไทยไม่ค่อยคำนึงถึงแบบแผนของภาษานัก จะเป็นด้วยการศึกษาเล่าเรียนภาษาไทยเดี๋ยวนี้ไม่ได้ผลเหมือนแต่ก่อน เพราะ ขาดครูผู้รู้ภาษาไทยดีพอก็ตามจะเป็นเพราะคะแนนภาษาไทยและชั่วโมงเรียนภาษาไทย ที่กระทรวงกำหนดให้มีน้อยมากจนแทบจะไร้ความหมายสำหรับเด็กนักเรียนก็ตาม หรือจะเป็นเพราะความไม่รับผิดชอบ ส่วนบุคคลผู้คิดเพียงว่าทำอะไรได้ตามใจ เป็นไทยแท้ก็ตาม รวมทั้งสิ้นนี้ย่อมเป็นปัจจัยแห่งความเสื่อมของภาษาไทยทั้งสิ้น ผลจึงปรากฏออกมา ในรูปที่ผิด ๆ แพร่หลายเต็มบ้านเต็มเมืองอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่า จะทางวิทยุ โทรทัศน์ ป้ายโฆษณา จอภาพยนตร์ หรือหนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่าง ๆ ถ้าจะประมวลมาบันทึกกันจริง ๆ ก็จะได้เอกสารแห่งความผิดเล่มมหึมา ซึ่งจะต้องใช้เวลานานปีเต็มที่ กว่าจะทำความเข้าใจให้ถูกต้องโดยตลอดได้ การพูดตัว ” “และการออกเสียงพยัญชนะ ควบกล้ำนั้นแทบจะแก้ไขให้ถูกต้องไม่ได้แล้ว แม้จะพยายามอย่างแสนเข็ญเพียงไรก็ตาม  (ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา)

บทความนี้ผู้เขียนแสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญแก่การเรียนการสอนภาษาไทย ครูที่รู้ภาษาไทยดีพอก็ขาดแคลน และคนไทยปัจจุบันก็ขาดความ รับผิดชอบในการใช้ภาษาไทย ซึ่งตีความได้ว่า ผู้เขียนคิดว่าการใช้ภาษาไทยเสื่อมทรามลง เป็นเพราะคนไทยไม่สังวรในความเป็นไทย ไม่ตระหนักว่าภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ ของความเป็นชาติไทย

การตีความบทความชิ้นนี้จะเห็นได้ว่าผู้อ่านต้องทราบภูมิหลังของเรื่องก่อน คือ มีคน จำนวนมาก เขียนหรือพูดถึงเรื่องคนไทยปัจจุบันเขียนและพูดภาษาไทยไม่ถูกต้อง ผู้เขียน เป็นอาจารย์สอนภาษาไทยในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ต้องพบปัญหานี้ มากในการสอนลูกศิษย์ของท่าน นอกจากนี้ยังมีเรื่องจำนวนครูสอนภาษาไทย ที่รู้ และสอน ภาษาไทยได้ดีมีน้อย และชั่วโมงเรียนภาษาไทยก็ลดลง จากเดิมเคยเรียน ๓ คาบ / สัปดาห์ เหลือเป็น ๒ คาบ / สัปดาห์ คะแนน ๑๐๐ คะแนน ก็จริง แต่เวลาสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือ เข้าเรียนต่อในโรงเรียนแต่ละระดับชั้น ก็พิจารณาคะแนนวิชาอื่นมากกว่าวิชาภาษาไทย คนไทยก็พูดและเขียนผิด ๆ ให้พบเห็นประจำถ้าผู้อ่านทราบภูมิหลังหรือมีประสบการณ์ เช่น ที่เขียนมานี้ ย่อมตีความสารที่ส่งมาได้ตรงกับที่เขียนให้ดูเป็นตัวอย่าง

๒. ข่าว ในการอ่านข่าว มีหลักอยู่ว่า จะต้องอ่านพาดหัวข่าวซึ่งเป็นข้อความสั้นๆ ตัวโตๆ ก่อนเสมอ เพื่อให้รู้เรื่องราวทั้งหมดจากหนังสือพิมพ์ แล้วจึงอ่านสรุปข่าวย่อ ๆ ซึ่งข่าวทุกข่าวจะมีสรุปหัวข้อข่าวก่อนที่จะบรรยายรายละเอียด จะทำให้ผู้เรียนทราบว่า ข่าวนั้นเป็นข่าวอะไร กล่าวถึงใครทำไมจึงเป็นเช่นนี้ และข่าวนี้เกิดที่ไหน ทำให้เกิดผลอย่างไร แล้วจึงอ่านข้อความละเอียดของข่าวต่อไป
ข่าวทั่วไป จะไม่ค่อยต้องอ่านแบบตีความ เพราะการเขียนข่าวจะพยายามใช้ภาษา ชาวบ้านอ่านแล้วเข้าใจได้ทันที แต่ก็มีข่าวบางประเภทที่ต้องอาศัยการอ่านแบบตีความ จึงจะเข้าใจความหมายได้ถูกต้อง ได้แก่ ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าววิชาการต่าง ๆ ข่าวพวกนี้ผู้อ่านต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่อ่านพอสมควร ต้องทราบภูมิหลังของข่าว และต้องมีประสบการณ์พอจึงจะตีความได้ โดยเฉพาะข่าวการเมือง จะมีการใช้ภาษาที่อาจ ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างใดอย่างหนึ่ง การเล่นสำนวนภาษาจะพบเสมอในการใช้ภาษา ของนักการเมือง และนักข่าวการเมือง ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นต้องอ่านแบบตีความและต้องหาความรู้ประกอบข่าวนั้นด้วย เพื่อการตีความจะได้มีความถูกต้องยิ่งขึ้น 

ตัวอย่าง ข่าวจากหนังสือพิมพ์รายวัน

(ส่วนพาดหัวข่าว) พระวรชายาทรงห่วงเด็ก ให้ช่วยกวดขันโฆษณาทีวี
(ส่วนความนำ) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายา ทรงมีความห่วงใยในเยาวชน ของชาติ ฝากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยกวดขันโฆษณาทีวี ซึ่งมีอิทธิพลต่อเด็กอย่างมาก
(ส่วนเนื้อหาข่าว) ในวโรกาสที่เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดการสัมมนา การพัฒนาเยาวชนเพื่อพัฒนาสังคมซึ่งฝ่ายเนติธรรมสภาสตรีแห่งชาติฯ และคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันจัดขึ้นที่หอประชุมบ้านมนังคศิลา เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในตอนหนึ่งของพระดำรัสเปิดการสัมมนา ทรงมีรับสั่งว่า
เยาวชนและเด็กเป็นความหวังที่สำคัญของประเทศในการที่จะเป็นผู้ธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงและรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของชาติให้ยั่งยืนต่อไป แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ระยะนี้เยาวชนของเราบางส่วนเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมลงทั้งในความประพฤติและจิตใจ การกระทำที่ไม่ถูกต้องหลายอย่าง มีท่าทีจะกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปยอมรับและสมยอม ให้กระทำกันได้เป็นธรรมดา สภาวะการณ์เช่นนี้เป็นปัญหาใหญ่ จำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไข และช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะแท้จริงแล้วเยาวชนเหล่านั้น มิได้ต้องการ ทำตัวให้ตกต่ำหรือให้เป็นปัญหาแก่สังคมประการใด
“ทุกคนต้องการจะเป็นคนดีมีประโยชน์ ต่อสังคมและประเทศชาติ ด้วยกันทั้งนั้น แต่การที่จะบรรลุถึงความประสงค์นี้ได้จำต้องอาศัย ผู้แนะนำควบคุมให้ดำเนินการอย่างถูกต้องผู้ที่มีหน้าที่ด้านนี้ทุกฝ่ายทุกระดับจึงต้องร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างเยาวชนเหล่านั้นให้พัฒนาไปในทางที่ถูกในทุก ๆ ด้าน เพื่อที่จะได้เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองดีมีคุณภาพสามารถสืบทอดทุกสิ่งทุกอย่างต่อไปได้ ดังที่ทุกคนปรารถนา
ก่อนเสด็จกลับ ได้เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องผู้บริโภคที่ควรรู้ด้วย ศ.ลิ้นจี่ หะวานนท์ รองประธานสภาสตรีฯ และประธานฝ่ายเนติธรรม ซึ่งเป็นผู้จัดการสัมมนา ในครั้งนี้ ได้เปิดเผยว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรชายา ทรงเป็นห่วงใย เยาวชนของชาติมาก โดยเฉพาะการจัดสัมมนานี้ก็ทรงชื่นชมมาก เพราะเหตุว่า เรื่องการ บริโภค ขณะนี้มีสิ่งที่จะต้องช่วยเหลือประชาชนมากทีเดียว โดยเฉพาะการโฆษณาในทีวี ตอนนี้ไม่ค่อยจะดี
มีรับสั่งว่าน่าจะได้มีการดูแลกันบ้าง พร้อมกับฝากให้คณะกรรมการ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป อย่าทำเพียงแค่นี้ และในการที่ได้นำเยาวชนมาอบรมเช่นนี้ ทรงให้การสนับสนุนว่า ทำถูกต้องแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ศ.ลิ้นจี่ ก็ได้ กราบทูลว่า ถ้าจะให้ดีต้องอบรมผู้ใหญ่ด้วยแล้ว มาพบกันครึ่งทางจะได้ไม่สวนทางกัน แต่พระวรชายาทรงแย้งว่าผู้ใหญ่นั้นดื้อ จึงควรให้ความรู้และคำแนะนำที่ถูกต้องแก่เด็ก (ไทยรัฐ พ.ศ. ๒๕๒๕)

เมื่ออ่านข่าวตามวิธีการที่เสนอแนะมาแล้ว คราวนี้ลองถามตัวเองว่า ๑) อ่านข่าวได้รวดเร็วและเข้าใจเนื้อเรื่องโดยตลอดหรือไม่ ๒) ข่าวนี้กล่าวถึงใคร ทำอะไรที่ไหนและผลจากข่าวนี้เป็นอย่างไร ๓) ข่าวนี้เป็นจริงหรือไม่ อย่างไร มีข้อความที่น่าเชื่อถือได้หรือไม่ พิจารณาให้ถ่องแท้ หากสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้และฝึกฝนตนเองสม่ำเสมอ ก็จะอ่านข่าว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๓. ประกาศและโฆษณา ในประกาศและโฆษณาต่าง ๆ ส่วนใหญ่ใช้ภาษาง่าย ๆ และมีความหมายตรงตามตัวอักษรแต่ก็มีประกาศ และโฆษณาจำนวนมาก เช่นกัน ที่ต้องตีความให้ดี ไม่เช่นนั้นก็จะเข้าใจไม่ตรงกันหรืออาจถูกหลอกให้ซื้อสินค้า หรือ บริการ เพราะความเข้าใจผิด การอ่านสารประเภทนี้ บางครั้งต้องอาศัยความรู้ประกอบด้วย

ตัวอย่าง โฆษณาเครื่องตัดไฟยี่ห้อหนึ่งใช้ข้อความว่า
 “ป้องกันไฟดูด ไฟรั่ว ไฟช็อต ไฟเกิน ได้แน่นอนกว่า วางใจได้ มาตรฐานระบบ GFCI สหรัฐอเมริกา เซอร์กิตมาตรฐาน U/C สหรัฐอเมริกา มีจำหน่ายตามร้านไฟฟ้าชั้นนำทั่วประเทศ พูดถึงเครื่องตัดไฟฟ้า ช่างไฟพูดถึง……”

การอ่านตีความโฆษณาชิ้นนี้ต้องมีความรู้เรื่องไฟดูด ไฟช็อต ไฟรั่ว และไฟเกินว่า เมื่อมีไฟรั่วจากอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือสายไฟ ถ้ามีใครไปแตะต้องตรงที่มีไฟรั่วอยู่ก็จะถูกไฟดูด และถ้าใช้ไฟเกินกำลังไฟในหม้อแปลงไฟฟ้า ก็จะเกิดไฟช็อตตามมา นอกจากนั้นต้องรู้ว่า เครื่องตัดไฟคืออะไร รูปร่างเป็นอย่างไร มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง มาตรฐานระบบ GFCI และเซอร์กิต U/C เป็นอย่างไร
ถ้าผู้อ่านไม่มีความรู้เรื่องดังกล่าว ก็ไม่อาจตีความข้อความโฆษณาชิ้นนี้ได้ เพราะไม่มีความรู้ จึงไม่เข้าใจความหมายซึ่งนำไปสู่ปัญหา คือ ตัดสินใจ ไม่ได้ว่า จะซื้อสินค้าชิ้นนี้ดีหรือไม่ แต่การโฆษณาสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าพิเศษเฉพาะผู้ใช้บางอาชีพแล้ว มักใช้ภาษาง่ายๆ อ่านแล้วเข้าใจ หรือตีความได้ทันที เช่น น้ำมันถั่วเหลืองรินคุณค่าถั่วเหลืองเพื่อสุขภาพผู้อ่านตีความได้ทันทีว่าน้ำมันพืชตรานี้ทำมาจากถั่วเหลืองรับประทานแล้วสุขภาพแข็งแรง

การตีความสารประเภทร้อยกรอง
การอ่านตีความสารประเภทร้อยกรอง นอกจากผู้อ่านต้องมีประสบการณ์ มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน และทราบภูมิหลังของเรื่องและผู้เขียนแล้ว ผู้อ่านยังต้องมีความรู้เรื่อง ศัพท์ด้วย เพราะผู้แต่งร้อยกรอง มักชอบใช้คำศัพท์ที่ไม่ใช่ศัพท์ปกติที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้เพื่อความเด่นในด้านการใช้ภาษา ผู้แต่งร้อยกรองบางคนถึงกับผูกศัพท์ขึ้นมาใหม่เลยก็มี ฉะนั้น ความรู้เรื่องศัพท์จึงสำคัญมากในการอ่านตีความสารประเภทร้อยกรอง จะขอยกตัวอย่าง สารประเภทร้อยกรองเพื่อสอนคุณธรรมเพราะการอ่านสารประเภทนี้ ต้องใช้การอ่านแบบตีความเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเรื่องคุณธรรมและศาสนา เป็นปรัชญา ที่ลึกซึ้ง และผู้ประพันธ์มักเขียนโดยใช้การเปรียบเทียบหรือใช้สัญลักษณ์ การอ่านตีความ สารประเภทร้อยกรองเพื่อสอนคุณธรรม จะมุ่งตีความถึงคติธรรม ค่านิยม และวิถีชีวิต ของมนุษย์ในสังคมระยะสั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไรเป็นสำคัญ จะยกตัวอย่างการอ่านตีความ โคลงโลกนิติ บทที่ ๓๑๕ ของกรมพระยาเดชาดิศร ดังนี้

บรรพชิตกายซูบไซร้     ดูงาม
จตุบาทอ้วนรูปทราม      รักเลี้ยง
ชายชาญวิชางาม      เป็นสง่า
หญิงสู่สามีเคี้ยง     คู่ความดูงาม

โคลงโลกนิติบทนี้ กล่าวถึงความงามของคน และสัตว์ที่โลกมีค่านิยมว่าควรงามอย่างไร ให้เหมาะสมกับสถานภาพในสังคม ผู้อ่านจะตีความได้ว่าพระภิกษุควรจำศีลภาวนา นั่งสมาธิ ไม่ควรฉันแล้วก็จำวัดจนร่างกายสมบูรณ์ พระผอมน่าเสื่อมใสกว่า ส่วนสัตว์เลี้ยง ต้องขุนให้อ้วน จึงจะน่าเลี้ยง ตรงนี้เขียนเป็นเชิงเปรียบเทียบ อาจตีความให้ลึกลงไปได้ว่า คนโบราณตำหนิ พระภิกษุที่เอาแต่ฉันแล้วจำวัด ไม่บำเพ็ญศีลภาวนาจนร่างกายอ้วนพี ทำตัวเทียบเท่ากับสัตว์เลี้ยงของสังคมเท่านั้น ส่วนบาทที่สามสอนว่าผู้ชายงามสง่า ที่การเป็นผู้มีวิชาความรู้ดี บาทที่สี่สอนว่า ผู้หญิงจะงามเมื่อมีสามีเคียงคู่อยู่ด้วย สำหรับ บาทที่สี่นี้ถ้าอ่านแบบตีความ อาจตีความได้เป็น ๒ ความหมาย คือ ผู้หญิงจะงามต้องมีสามี รักใคร่ เอาใจใส่ดูแลให้ความสุข หรือผู้หญิงจะงามจริง ก็ต้องเป็นคนมีใจอยู่ที่สามี เพียงคนเดียว ร่วมทุกข์ร่วมสุขเคียงคู่กับสามีทุกเมื่อ

สรุป
๑. การตีความเป็นการทำความเข้าใจความหมายของคำ สำนวน ข้อความ หรือเนื้อเรื่อง ซึ่งไม่ได้มีความหมายตามอักษร การอ่านตีความ ผู้อ่าน ต้องมี ประสบการณ์ที่ตรงกันกับผู้เรียนที่สื่อมาในสาร
๒. สารที่เราอ่านโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทร้อยแก้ว และ ประเภทร้อยกรอง สารประเภทร้อยแก้ว ได้แก่ บทความ ข่าว ประกาศ และโฆษณาต่าง ๆ

http://www.enfe.go.th/enfe_2548/thai/thai01/thai11060.html

การคิดอย่างมีวิจารณญาณ


ใบความรู้ที่ ๒ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ

การคิดอย่างมีวิจารณญาณ

ตัวอย่างความหมายของ "การคิดอย่างมีวิจารณญาณ" ที่มีผู้ให้คำนิยามไว้

การคิดอย่างมีวิจารณญาณ คือการคิดอย่างมีเหตุผล ไตร่ตรอง เพื่อการตัดสินใจว่าสิ่งใดควรเชื่อและสิ่งใดควรทำ

การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) หมายถึง การคิดที่ใช้เหตุผลในการคิดแบบไตร่ตรอง เพื่อตัดสินใจเชื่อหรือกระทำ ในด้านต่าง ๆ ดังนี้ การใช้เหตุผลเชิงอุปมาน การใช้เหตุผลเชิงอนุมาน การสังเกต การตีความ การตั้งสมมุติฐาน การพิจารณาความน่าเชื่อถือ การตัดสินคุณค่า และกลวิธีการแก้ปัญหา
การคิดอย่างมีวิจารณญาณ หมายถึงกระบวนการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบเกี่ยวกับข้อมูล หรือสถานการณ์ที่ปรากฏ โดยใช้ความรู้ ความคิด และประสบการณ์ของตนเองในการสำรวจหลักฐานอย่างรอบคอบเพื่อไปสู่ข้อสรุปที่สมเหตุสมผล
การคิดวิจารณญาณ (Critical Thinking) หมายถึง ความสามารถทางสมองของบุคคล ที่แสดงออกมาโดยใช้กระบวนการคิดอย่างมีเหตุผลและตรึกตรองอย่างรอบคอบ เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจที่จะเชื่อหรือกระทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งจำแนกออกเป็น 4 ความสามารถย่อย คือ ความสามารถในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลและการสังเกต ความสามารถในการนิรนัย ความสามารถในการอุปนัย ความสามารถในการระบุข้อตกลงเบื้องต้น

ทักษะการคิดวิเคราะห์วิจารณ์ หมายถึง ความสามารถในการคิดที่ใช้ทักษะการแสวงหาความรู้ ทักษะการใช้เหตุผล ทักษะการประเมินข้อมูล และทักษะการเลือกและตัดสินใจอย่างผสมผสานจนได้ข้อสรุปหรือคำตอบ
ความคิดเชิงวิจารณ์ (Critical Thinking) เป็นทัศนคติพื้นฐานและทักษะที่ช่วยให้ปัจเจกชนสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ และมีหลักการในการเชื่อและการตัดสินใจ
Critical thinking คือการคิดไตร่ตรองที่เน้นในเรื่องการตัดสินใจว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อสิ่งใด หรือจะทำหรือไม่ทำสิ่งใด ความหมายนี้ได้นับรวมเอาความคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) เข้าไว้ในคำจำกัดความของ Critical thinking ด้วย 

โดยสรุป การคิดอย่างมีวิจารณญาณ หมายถึงการทำงานของสมองที่มีการคิด พิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบเกี่ยวกับข้อมูล หรือสภาพการณ์ที่ปรากฏ โดยใช้ความรู้ ความคิด และประสบการณ์ของตนเองในการสำรวจหลักฐานอย่างละเอียด เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่สมเหตุสมผล ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ 7 ประการ 

๑. ความสามารถในการระบุประเด็นปัญหา เป็นความสามารถในการระบุหรือ ทำความเข้าใจโดยพิจารณาความหมาย ความชัดเจนของข้อมูล ข้อความ ข้ออ้าง หรือข้อโต้แย้ง หรือสถานการณ์ที่ปรากฏ เพื่อกำหนดข้อสงสัยและประเด็นหลักที่ควรพิจารณาและแสวงหาคำตอบ
๒. ความสามารถในการรวบรวมข้อมูล เป็นความสามารถในการพิจารณาข้อ มูลทั้งทางตรงและทางอ้อมจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งได้จากการคิด การพูดคุย การสังเกต ทั้งจากตนเองและผู้อื่น รวมถึงการดึงข้อมูลจากประสบการณ์เดิมที่มีอยู่
๓. ความสามารถในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล เป็นความ สามารถในการพิจารณา ประเมิน ตรวจสอบ ตัดสินข้อมูลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยพิจารณาถึงที่มาของข้อมูล สถิติ และหลักฐานที่ปรากฏ
๔. ความสามารถในการระบุลักษณะข้อมูล เป็นความสามารถในการจำแนกประเภทของข้อมูล ระบุแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังข้อมูลที่ปรากฏ ซึ่งประกอบด้วยความสามารถในการพิจารณาแยกแยะ เปรียบเทียบความต่างของข้อมูล การตีความ ประเมินว่าข้อมูลใดเป็นจริง ข้อมูลใดเป็นเท็จ รวมถึงการระบุข้อสันนิษฐานหรือข้อตกลงเบื้องต้นที่อยู่เบื้องหลังข้อมูลที่ปรากฏ การนำความรู้ไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ที่อาศัยข้อมูลจากประสบการณ์เดิมมาร่วมพิจารณาด้วย
๕. ความสามารถในการตั้งสมมุติฐาน เป็นความสามารถในการพิจารณาถึง ความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างข้อมูลที่มีอยู่ สังเคราะห์ จัดกลุ่ม และลำดับความสำคัญของข้อมูลเพื่อระบุทางเลือกที่เป็นไปได้ โดยเน้นที่ความสามารถพิจารณาเชื่อมโยงเหตุการณ์และสถานการณ์
๖. ความสามารถในการลงข้อสรุป เป็นความสามารถในการพิจารณาอย่างมีเหตุ ผลเพื่อให้ข้อสรุปโดยใช้เหตุผลเชิงอุปนัย (Inductive Reasoning) หรือเหตุผลเชิง นิรนัย (Deductive Reasoning)
๖.๑ การสรุปความโดยใช้เหตุผลเชิงอุปนัย เป็นการสรุปความโดยพิจารณาข้อมูลหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะเรื่อง เพื่อนำไปสู่กฎเกณฑ์หรือหลักการ
๖.๒ การสรุปความโดยใช้เหตุผลเชิงนิรนัย เป็นการสรุปความโดยพิจารณาจากกฎเกณฑ์ และหลักการทั่วไป เพื่อไปสู่เรื่องเฉพาะหรือสถานการณ์ที่ปรากฏ
๗. ความสามารถในการประเมินผล เป็นความสามารถในการพิจารณาประเมิน ความถูกต้อง สมเหตุสมผลของข้อสรุป จึงเกิดจากการคิดวิเคราะห์ ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ใช้เหตุผลเชิงตรรกะ รวมทั้งความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ การตัดสินคุณค่าและเหตุการณ์อย่างถูกต้อง


ทักษะการคิด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ "ทักษะการคิดที่เป็นแกน" และ "ทักษะการคิดขั้นสูง" ส่วน "กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ" ประกอบด้วยจุดมุ่งหมายของการคิด และวิธีคิด

ทักษะการคิดที่เป็นแกน (Core /General Thinking Skills)
หมายถึง ทักษะการคิดที่จำเป็นต้องใช้อยู่เสมอในการดำรงชีวิตประจำวัน และเป็นพื้นฐานของการคิดชั้นสูงที่มีความสลับซับซ้อน ประกอบไปด้วย การสังเกต (Observing) การสำรวจ (Exploring) การตั้งคำถาม (Questioning) การเก็บรวบรวมข้อมูล (Information Gathering) การระบุ (Identifying) การจำแนกแยกแยะ (Discriminating) การจัดลำดับ (Ordering) การเปรียบเทียบ (Comparing) การจัดหมวดหมู่ (Classifying) การสรุปอ้างอิง (Inferring) การแปล (Translating) การตีความ (Interpreting) การเชื่อมโยง (Connecting) การขยายความ (Elaborating) การให้เหตุผล (Reasoning) และการสรุปย่อ (Summarizing) 

ทักษะการคิดขั้นสูงหรือทักษะการคิดที่ซับซ้อน ( Higher - ordered / More Complexed Thinking Skills)

หมายถึง ทักษะการคิดที่มีขั้นตอนหลายขั้น และต้องอาศัยทักษะการสื่อความหมาย และทักษะการคิดที่เป็นแกนหลาย ๆ ทักษะในแต่ละขั้น ทักษะการคิดขั้นสูงจึงจะพัฒนาได้เมื่อเด็กได้พัฒนาทักษะการคิดพื้นฐานจนมีความชำนาญพอสมควรแล้ว ทักษะการคิดขั้นสูงประกอบด้วยทักษะย่อย ๆ ที่สำคัญดังนี้ 

การสรุปความ (Drawing Conclusion) การให้คำจำกัดความ (Definition) การวิเคราะห์ (Analyzing) การผสมผสานข้อมูล (Integrating) การจัดระบบความคิด (Organizing) การสร้างองค์ความรู้ใหม่ (Constructing) การกำหนดโครงสร้าง (Structuring)
การแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างความรู้เสียใหม่ (Restructuring) การค้นหาแบบแผน (Finding Patterns) การหาความเชื่อพื้นฐาน (Finding Underlying Assumption) การคาดคะเน / การพยากรณ์ (Predicting) การตั้งสมมุติฐาน (Formulating Hypothesis) การทดสอบสมมุติฐาน (Testing Hypothesis) การตั้งเกณฑ์ (Establishing Criteria) การพิสูจน์ความจริง (Verifying) การประยุกต์ใช้ความรู้ (Applying)

กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ประกอบไปด้วย 

๑.       จุดมุ่งหมายของการคิด ก็เพื่อให้ผู้คิดอย่างมีวิจารณญาณมีความสามารถ ดังนี้
๑.       สามารถกำหนดเป้าหมายในการคิดอย่างถูกทาง
๒.      สามารถระบุประเด็นในการคิดได้อย่างชัดเจน
๓.      สามารถประมวลข้อมูล ทั้งทางด้านข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่คิด ทั้งทางกว้าง ลึก และไกล
๔.      สามารถวิเคราะห์ข้อมูล และเลือกข้อมูลที่จะใช้ในการคิดได้
๕.      สามารถประเมินข้อมูลได้
๖.       สามารถใช้หลักเหตุผลในการพิจารณาข้อมูล และเสนอคำตอบ/ทางเลือก ที่สมเหตุสมผลได้
๗.      สามารถเลือกทางเลือก/ลงความเห็นในประเด็นที่คิดได้

๒.      วิธีคิด
๑.       ตั้งเป้าหมายในการคิด
๒.     ระบุประเด็นในการคิด
๓.      ประมวลข้อมูล ทั้งทางด้านข้อเท็จจริง ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่คิดทางกว้าง ลึก และไกล
๔.      วิเคราะห์ จำแนกแยกแยะข้อมูล จัดหมวดหมู่ข้อมูล และเลือกข้อมูลที่จะนำมาใช้
๕.      ประเมินข้อมูลที่จะใช้ในแง่ความถูกต้อง ความเพียงพอ และความน่าเชื่อถือ
๖.       ใช้หลักฐานในการพิจารณาข้อมูลเพื่อแสวงหาทางเลือก/คำตอบที่สมเหตุสมผลตามข้อมูลที่มี
๗.      เลือกทางเลือกที่เหมาะสมโดยพิจารณาถึงผลที่ตามมา และคุณค่าหรือความหมายที่แท้จริงของสิ่งนั้น
๘.      ชั่งน้ำหนักผลได้ผลเสีย คุณ - โทษ ในระยะสั้นและระยะยาว
๙.       ไตร่ตรอง ทบทวนกลับไปกลับมาให้รอบคอบ
๑๐.   ประเมินทางเลือกและลงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่คิด

http://web.kku.ac.th/thai416102/SubjectWeb/Critical-Reading_Meaning.htm