ใบความรู้ที่ ๕ การเขียนบทวิเคราะห์
การเขียนบทวิเคราะห์
แนวทางในการพิจารณาและใคร่ครวญของผู้เขียนบทวิเคราะห์ที่จะเข้าใจถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขตามแนวความคิดและข้อมูลที่มีอยู่
ผู้เขียนจะต้องศึกษาและติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้การวิเคราะห์เป็นไปตามหลักและเหตุผลที่น่าเชื่อถือ
แต่ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนต้องคำนึงถึงก็คือหลักการเขียนบทวิเคราะห์
ซึ่งจะเป็นแนวทางในการเขียนบทวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง คือ
๑.ความสามารถในการสังเกตข้อเท็จจริง
การเขียนบทวิเคราะห์ผู้เขียนจะต้องมีความช่างสังเกตในการเลือกประเด็นที่จะนำมาเขียนเป็นบทวิเคราะห์
ซึ่งการสังเกตข้อเท็จจริงทั่วไปนอกจากจะต้องหมั่นติดตามเรื่องราวและศึกษาหาความรู้ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องแล้ว
สิ่งที่จะต้องคำนึงเพิ่มเติม เช่น ต้องตระหนักว่าอะไรคือปัญหา
เพราะนั่นคือประเด็นที่จะต้องนำมาวิเคราะห์
และจะต้องกำหนดขอบเขตของปัญหา
เพราะจะช่วยมิให้เขียนแบบน้ำท่วมทุ่งจนไม่สามารถเข้าสู่ประเด็นสำคัญของสถานการณ์ที่จะทำการวิเคราะห์
๒.การมีความรอบรู้
ผู้เขียนบทวิเคราะห์จะต้องเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ในเรื่องที่จะศึกษาวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง
ละเอียด เพราะการที่มีความรอบรู้ในเรื่องนั้นจะส่งผลให้บทวิเคราะห์มีน้ำหนักและความน่าเชื่อถือ
ทั้งนี้บทวิเคราะห์ของผู้เขียนจะต้องวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลบนพื้นฐานแห่งความถูกต้อง
อาทิ ความรอบรู้ในศาสตร์ของเรื่องที่จะวิเคราะห์
โดยผู้เขียนอาจต้องมีความเข้าใจอยู่บนพื้นฐานของหลักการหรือทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งในศาสตร์ของเรื่องราวที่จะวิเคราะห์
เพื่อใช้เป็นแนวทางการพิจารณาประเด็นปัญหาของการเขียนบทวิเคราะห์ที่ดี นอกจากนี้ ความรอบรู้ในเรื่องราวที่จะวิเคราะห์
ก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยผู้เขียนจะต้องติดตามและหมั่นศึกษาเรื่องราวนั้นว่ามีความเป็นมาอย่างไร
เพื่อเป็นการชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของปัญหาที่จะวิเคราะห์
๓.การกำหนดสมมุติฐาน
การเขียนบทวิเคราะห์นั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสวงหาคำตอบที่คาดว่าจะเป็น
ซึ่งคำตอบดังกล่าวนั้นควรจะเป็นอย่างไร
ควรที่จะได้กำหนดสมมุติฐานอันเป็นข้อที่คาดว่าจะค้นพบไว้ล่วงหน้า การกำหนดสมมติฐานที่ดีควรประกอบด้วย
การระบุความแจ่มชัดและความสำคัญของปัญหา, การกำหนดข้อมุ่งหมายของการแสวงหาคำตอบ
และการคาดการณ์หรือการทำนายข้อค้นพบที่ควรจะเป็นไปได้
๔.การทดสอบสมมุติฐาน
ขั้นตอนนี้จัดเป็นขั้นตอนสำคัญที่เป็นหัวใจของบทวิเคราะห์ โดยประกอบด้วย
- การเก็บรวบรวมข้อมูล
ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญในการวิเคราะห์
ซึ่งการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ดี มีความครบถ้วนเป็นระบบ ระเบียบ
จะช่วยทำให้บทวิเคราะห์ที่เขียนขึ้นเป็นข้อเขียนที่ดีด้วยเช่นกัน
- การวิเคราะห์ข้อมูล
เป็นขั้นตอนของการพิจารณาข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ โดยอาศัยภูมิความรู้หรือกรอบความคิดเป็นแนวทาง
- การตีความข้อมูล
เมื่อได้พิจารณาวิเคราะห์ข้อมูลแล้วจำเป็นจะต้องตีความของข้อมูลว่ามีความหมายอย่างไร
เพื่อให้ผู้อ่านได้มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว
- การนำเสนอข้อมูล
จัดเป็นขั้นตอนของการเขียนเพื่อการนำเสนอผู้อ่าน ผู้เขียนบทวิเคราะห์จะต้องเขียนอย่างเป็นขั้นตอนและสมเหตุผล
โดยอาจแจ้งแหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อให้มีความหนักแน่นยิ่งขึ้น
การเขียนจะต้องมีความแจ่มชัด กะทัดรัด ไม่วกวนหรือกำกวม
เป็นรูปธรรมและเต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวาที่สร้างสรรค์
- การลงข้อสรุป บทวิเคราะห์ที่ดีและมีความสมบูรณ์นั้นจะต้องมีข้อสรุป
รวมทั้งอาจมีข้อเสนอแนะให้ผู้อ่านหรือผู้เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาภายหลังจากการอ่านบทวิเคราะห์ได้
No comments:
Post a Comment