ใบความรู้ ที่ ๑
การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ หรือ
การอ่านอย่างวิเคราะห์วิจารณ์ หรือ การอ่านอย่างวิพากษ์วิจารณ์
หมายถึงการอ่านที่ผู้อ่านนำเอาวิธีคิดอย่างมีวิจารณญาณมาใช้ในการรับสารจากการอ่าน
ทั้งนี้เพื่อประเมินสิ่งที่อ่านและตัดสินใจว่าสิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอมีเหตุผลน่าเชื่อถือหรือไม่
เพียงใด
การอ่านอย่างมีวิจารณญาณเป็นทักษะการอ่านขั้นสูงที่ผู้อ่านจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่อ่านเพื่อเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์วิจารณ์ในขั้นสูงต่อไป
ทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของข้อมูลข่าวสารเช่นในปัจจุบัน
ทั้งนี้เพราะจะช่วยให้ผู้อ่านรู้จักวิเคราะห์ ตรวจสอบ
และเลือกรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างมีเหตุผล
ตัวอย่างความหมายของการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
เป็นการอ่านโดยใช้ความคิด พิจารณาสิ่งที่อ่านอย่างมีเหตุผล สามารถเข้าใจความคิดของผู้เขียน
แยกแยะข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น สรุปเรื่องราวที่อ่านได้ ตลอดจนลงความเห็น ประเมิน
ตัดสินสิ่งที่อ่านได้โดยใช้ความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้อ่าน
การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
หมายถึงการพิจารณาสิ่งที่อ่านอย่างทะลุ ปรุโปร่ง เพื่อค้นหาความหมาย ข้อสมมุติฐาน
เหตุผล และกลวิธีในการนำเสนอของผู้เขียน
ผู้อ่านที่อ่านอย่างวิเคราะห์วิจารณ์ต้องพยายามเรียนรู้ว่าข้อเขียนนั้นสื่อความหมายและสร้างความสนใจอย่างไร
ผู้เขียนเสนอประเด็นโต้แย้งและเหตุผลทั้งในลักษณะที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนและไม่ชัดเจน
อย่างไรบ้าง การเรียนรู้ที่จะเป็นผู้อ่านที่มีความคิดวิเคราะห์วิจารณ์นั้น
ผู้อ่านต้องตั้งสมมุติฐานว่า
การสื่อสารในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นข้อเขียนหรือภาพวาดล้วนเป็นสิ่งแทนการแสดงออกทั้งสิ้น
ข้อเขียนทั้งหลายไม่ใช่สิ่งที่ถูกพูดถึง แต่มันคือตัวแทนของสิ่งเราที่พูดถึง
การเรียนรู้ที่จะเป็นผู้อ่านวิเคราะห์วิจารณ์
หมายถึงการนำทักษะที่จำเป็นมาใช้ในการวิเคราะห์และตีความเพื่อให้สามารถอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยการสื่อสารอันหลากหลายนี้ได้อย่างฉลาด
ในการอ่านวิเคราะห์วิจารณ์ผู้อ่านต้องพิจารณาสิ่งที่อ่านทุกตอนตลอดจน
กระบวนการนำเสนอข้อเขียนนั้นๆด้วยความรอบคอบ
ตระหนักถึงบริบทของการสร้างสรรค์ข้อเขียนทุกชิ้น
ทั้งนี้เพราะในการเขียนนั้นเนื้อหาทุกตอน
ทุกชั้นจะถูกนำมาหลอมรวมเข้าด้วยกันด้วยกระบวนการเขียนที่ทำให้ส่วนต่างๆมีความกลมกลืนเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด
การอ่านวิเคราะห์วิจารณ์
คือการเรียนรู้ที่จะจำแนกชนิดของข้อเขียนและ วิธีที่ผู้เขียนใช้ในการสร้างความหมาย
เข้าใจกลวิธีและข้อสมมุติฐานของข้อเขียน
เข้าใจลักษณะการสะท้อนสังคมของข้อเขียนนั้น และมองเห็นความเหมือน
ความต่างของข้อเขียนนั้นกับข้อเขียนอื่นๆ
กระบวนการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
เป็นการทำงานของสายตากับสมอง เริ่มด้วยการรับภาพจากตา
สมองก็จะทำหน้าที่แปลความหมายโดยอาศัยความรู้ และประสบการณ์เดิมมาช่วยในการคิด
พิจารณาตัดสินใจเรื่องที่อ่าน
จาก http://web.kku.ac.th/thai416102/SubjectWeb/Critical-Reading_Meaning.htm
No comments:
Post a Comment