ใบความรู้ที่ ๒ สำนวนสุภาษิต
สุภาษิต
สุภาษิต ได้แก่คำพูดที่พูดออกมา
ไม่ว่าจะเป็นทำนองสำนวนโวหาร หรือคำพังเพย แต่มีเนื้อความหรือความหมายที่ดี
เป็นคำตักเตือนสั่งสอน และสะกิดใจให้ระลึกถึงอยู่เสมอ มีอยู่ ๒ ประเภท คือ
๑.
คำสุภาษิตประเภทที่ พูด อ่าน หรือเข้าใจเนื้อความได้ทันที
โดยไม่ต้องแปลความหมาย ตีความหมายเช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว (สุภาษิตประเภทนี้เป็นความหมายเฉพาะของคำว่า
“สุภาษิต” ด้วย)
๒.
คำสุภาษิตประเภทที่ พูด อ่าน
หรือฟังแล้วยังไม่เข้าใจเนื้อความนั้นในทันที ต้องนึกตรึกตรอง ต้องแปลความ ตีความหมายเสียก่อนจึงจะทราบเนื้อแท้ของคำเหล่านั้น เช่น
ผีบ้านไม่ดีผีป่าก็พลอย แบ่งเป็นประเภทย่อยคือ
๒.๑
สำนวน หมายถึง คำที่พูดหรือกล่าวออกมาทำนองเป็นโวหาร เป็นคำเปรียบเทียบ
จึงฟังแล้วมักจะไม่ได้ความหมายของตัวมันเอง ต้องนำไปประกอบกับบุคคล กับเรื่อง
หรือเหตุการณ์จึงจะได้ความหมายเป็นคติเตือนใจเช่นเดียวกับคำที่เป็นสุภาษิต เช่น ตักน้ำรดหัวตอ น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เป็นต้น
๒.๒
คำพังเพย หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงขึ้นมาเป็นความหมายกลางๆ คือ
ไม่เน้นการสั่งสอน แต่ก็แฝงคติเตือนใจหรือ ข้อคิดสะกิดใจให้นำไปปฏิบัติได้ และ
เนื้อหาของใจความนั้นก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นความดี หรือ ความจริงแท้แน่นอน เช่น
เข็นครกขึ้นภูเขา กล้านักมักบิ่น เป็นต้น
๒.๓ คำคม หมายถึง ถ้อยคำที่คิดขึ้นมาในปัจจุบันทันด่วน
เป็นถ้อยคำที่หลักแหลม ซึ่งสามารถเข้ากับเหตุการณ์นั้น ได้อย่างเหมาะเจาะ
ทั้งยังชวนให้คิด ถ้าพูดติดปากกันต่อไปก็จะกลายเป็นสำนวนไปได้ เช่น “อุปสรรคคือแบบทดสอบชีวิต” “สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องช่วยกันสร้าง”
เป็นต้น
"สำนวน “ที่เท่าแมวดิ้นตาย” ได้มาจากนิทานพื้นบ้าน เรื่อง
"ศรีธนญชัย" ตอนที่ศรีธนญชัยกราบทูลขอที่ดินจากพระเจ้าแผ่นดิน ขอเพียงที่เท่าแมวดิ้นตายเท่านั้น
พระเจ้าแผ่นดินเห็นว่าเป็นที่ดินเพียงเล็กน้อย จึงทรงอนุญาต
ศรีธนญชัยได้ทีจึงเอาแมวตัวหนึ่งมาผูกเชือกที่คอ แล้วเฆี่ยนให้แมวดิ้นไปเรื่อย ๆ
กว่าแมวตัวนั้นจะตายก็กินพื้นที่เป็นอาณาบริเวณกว้าง
ในนิทานเรื่อง ศรีธนญชัย "ที่เท่าแมวดิ้นตาย" จะหมายถึง
ที่ดินจำนวนมาก แต่ในการใช้เป็นสำนวน จะหมายถึง ที่ดินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น"
No comments:
Post a Comment