Labels

11.17.2011

การงานฯ ชั้น 11


บทที่ ๑: กระบวนการทำงานและการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

นักเรียนลองทบทวนบทเรียนในเรื่องของกระบวนการทำงานและการแก้ปัญหา ซึ่งต้องมีระบบ มีขั้นตอน เพื่อพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหาอย่างมีขั้นตอน เป็นเหตุเป็นผล  เมื่อมีประสบการณ์จากการทำงานมากขึ้น เราจะรู้ว่า การทำงานไม่มีวิธีการที่ตายตัว  และวิธีการแก้ปัญหาก็มีมากกว่าหนึ่งทาง เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องเลือกทางที่เหมาะสมกับเป้าหมายของเรา และเกิดประสิทธิผล ซึ่งหมายถึงการที่เราบรรลุเป้าหมายโดยประหยัดค่าใช้จ่ายและเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด  และเราก็ต้องฝึกที่จะทำงานเดี่ยว และงานกลุ่ม เพื่อจะช่วยให้เกิดความคิดที่หลากหลาย วิธีการแก้ปัญหาต่างๆ และช่วยให้เกิดความชำนาญในการทำงาน

กระบวนการทำงาน มี ๔ ขั้นตอน(ยังจำได้ไหม)

๑.วิเคราะห์งานหรือภาระงานที่ได้รับ เราต้องสามารถวิเคราะห์ และแจกแจงงานที่จะทำว่าเป็นประเภทใด ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์อะไรบ้าง มีลำดับขั้นตอนการทำงานอย่างไร เราต้องมองภาพรวมให้ได้ว่า ต้องทำงานกับใคร ทำที่ไหน และทำงานอย่างไร
๒.การวางแผนในการปฏิบัติงาน เป็นการวางแผนในเรื่องของคน วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือ เงินในการลงทุน และวิธีการทำงาน ซึ่งนักบริหารจัดการจะเรียกว่า ๔ M นั่นคือ Man Material Money และ Management เราจะเห็น ๔ คำนี้บ่อยขึ้นเมื่อเราได้เรียนรู้เรื่องการจัดการต่อไป
๓.การปฏิบัติงาน เป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะเป็นเวลาที่จะสร้างงานให้บรรลุผล  คนทำงานที่มีความสุขมักเป็นคนที่มีนิสัยรักการทำงาน มีความรับผิดชอบ ขยันอดทน ซื่อสัตย์ และตรวจสอบกระบวนการทำงานของตนเองเป็นระยะเพื่อให้มั่นใจว่างานที่ทำนั้นมีคุณภาพ
๔.การประเมินผลการทำงาน คือการตรวจสอบความก้าวหน้า และประเมินผลการทำงานทุกขั้นตอน ไม่ใช่รอให้ทำเสร็จกระบวนการเท่านั้น  เราต้องระบุถึงความสำเร็จ และปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงาน และวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุ  วิธีการและกระบวนการแก้ปัญหาที่เหมาะสม  เมื่องานเสร็จก็ประเมินผลสุดท้ายว่า ว่าบรรลุตามจุดมุ่งหมายหรือไม่ มีข้อดีข้อเสียอย่างไรเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

เอาละทีนี้มาดูกันว่าเมื่อทำงานแล้วเกิดปัญหา เราจะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบได้อย่างไร

ขั้นแรกเราต้องสังเกตหรือศึกษาข้อมูลเบื้องต้นพร้อมทั้งทำความเข้าใจในปัญหานั้น ๆ

ขั้นที่สองวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุของปัญหา และจัดลำดับความสำคัญ  และต้องเลือกแก้ปัญหาที่สำคัญซึ่งมีผลกระทบอย่างรุนแรง และต่อส่วนงานอีกหลายส่วนที่จะทำให้การดำเนินการมีอุปสรรคขาดประสิทธิภาพ

ขั้นที่สามสร้างทางเลือกในการแก้ป้ญหาหลายๆ ทาง ซึ่งเราอาจได้มาจากการศึกษา ค้นคว้าจากประสบการณ์ของคนอื่นๆ (อาจจะรวบรวมไว้ด้วยกระบวนการจัดการความรู้ Knowledge Management)  ทำการทดลอง แล้วตรวจสอบเพื่อการตัดสินใจหาทางเลือกในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด และมีผลกระทบเชิงลบต่องานน้อยที่สุด การมีทางเลือกในการแก้ปัญหาเพียงทางเดียว เป็นการจำกัดความเป็นไปได้อื่นๆ  ถือเป็นการเสียโอกาสที่จะได้วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสียของทางเลือกอื่นๆ และช่วยให้เราได้ทางเลือกที่ดีที่สุด

ขั้นที่สี่การประเมินทางเลือก ก็คือการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน หรือข้อดีข้อด้อย รวมทั้งผลที่อาจจะเกิดตามมากับทางเลือกแต่ละทาง  การวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนนี้นับว่าสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกทางที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้น

และขั้นตอนสุดท้าย ก็คือ การนำทางเลือกของเรามาวางแผนปฏิบัติงานอย่างเป็นขั้นตอน บันทึกผลและตรวจสอบความถูกต้องของทางเลือกที่เรานำมาใช้

เราจะเห็นว่าการทำงานที่ประสบความสำเร็จจะเป็นผลจากกระบวนการทำงานอย่างมีขั้นตอน โอกาสที่จะสำเร็จด้วยความบังเอิญมีน้อยครั้งมาก หรืออาจกล่าวได้ว่า แทบเป็นไปไม่ได้   ถ้าย้อนกลับไปดูการทำงานของเรา จะพบว่า บ่อยครั้งเราทำเพียงบางขั้นตอน  แต่ในงานที่ได้ผลน่าพึงพอใจ เราเองได้ทำงานอย่างมีกระบวนการโดยไม่ทันได้สังเกต

เอาละตอนนี้ครูต้องการทราบว่าเมื่อเราวางเป้าหมายที่จะพัฒนาคุณภาพการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราให้เป็นคนดี คนเก่ง และให้การทำงานมีคุณภาพดี เราต้องฝึกทักษะทางด้านสังคม การปรับตัวเข้ากับผู้อื่น มีมนุษยสัมพันธ์

เรารู้ไหมว่าหลักการพัฒนาคุณภาพในการทำงานมีอะไรบ้าง ช่วยกันหามาให้ได้เยอะๆ จะได้เอามาแลกเปลี่ยนกัน

ได้ทบทวนความรู้กันแล้ว  ต่อไปก็ลงมือทำงานกันได้เลย  คลิกเลยจ้า

No comments:

Post a Comment